สสว. จับมือ 5 หน่วยร่วมพันธมิตร พัฒนา 11 กลุ่มคลัสเตอร์ สร้างนวัตกรรมใหม่ ยกระดับสินค้า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการกว่า 4,347 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มกว่า 270 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า แนวทางหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง คือ การผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มพัฒนาร่วมกันเป็นคลัสเตอร์ โดยในปี 2564 สสว. ได้ร่วมกับหน่วยร่วมพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และ สถาบันอาหาร (สอห.) เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาคลัสเตอร์เอสเอ็มอี “แนวทางการดำเนินงานในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเข้าไปปรับปรุงการบริหารจัดการและการตลาด แต่ยังด้มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคลัสเตอร์ผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน เพิ่มศักยภาพในการผลิต และสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง” นายวีระพงศ์ กล่าว
โดยการดำเนินงานของโครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME ปี 2564 สสว. ได้เข้าไปพัฒนาให้การส่งเสริม 11 กลุ่มคลัสเตอร์ รวมทั้งหมด 30 คลัสเตอร์ มีจำนวนผู้ประกอบการรวม 4,347 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้กว่า 270 ล้านบาท ได้แก่
1. คลัสเตอร์ปลากัด จำนวน 6 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการ 824 ราย โดยมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เข้าไปช่วยสร้างนวัตกรรม ในด้านระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำเลี้ยงปลากัด และพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์โดยการใช้โซล่าเซลล์ เพื่อเปิดออกซิเจนให้น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด รวมทั้งพัฒนาพัฒนา Web Application เพื่อแก้ปัญหา ในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการปลากัดและกลุ่มที่สนใจให้เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตลอดจน การรวบรวมข้อมูลให้ข้อมูลข่าวสารปลากัด สำหรับการแสดง การตลาด การขาย และ การประกวดปลากัด เพื่อแก้ปัญหาในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลของกลุ่มคลัสเตอร์ปลากัดและกลุ่ม ที่สนใจได้เข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 51,138,000 บาท
- คลัสเตอร์โกโก้ จำนวน 4 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการ 659 ราย โดย มจพ. ได้คิดค้นพัฒนาระบบการทดสอบวัดคุณภาพเมล็ดโกโก้ ด้วยวิธีการ cut test ตาม FCCI Protocal เพื่อแก้ปัญหาในการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดก่อนการรับซื้อ ส่งผลให้สินค้าที่ได้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงมากขึ้น ลดต้นทุนการสูญเสียใน การผลิต และพัฒนาอุปกรณ์ช่วยกะเทาะเปลือกเมล็ดโกโก้หลังจากการคั่ว เพื่อแก้ปัญหาการใช้แรงงานคน และการใช้ระยะเวลาในการแกะเปลือกเมล็ดโกโก้ ทำให้สามารถลดแรงงาน ลดเวลาในการทำงาน และเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้พัฒนาอุปกรณ์และระบบการตรวจติดตามอุณหภูมิ ความชื้นและ ค่า Hp ของกระบวนการหมักโกโก้ รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนเมื่ออุณหภูมิภายในถังหมักผิดปกติ ทำให้ลด การสูญเสียและการเสียหายของการผลิตได้ทันเวลา ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและผลิตภาพ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 34,035,000 บาท
- คลัสเตอร์ดิจิทัล คอนเทนต์ จำนวน 3 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการ 410 ราย โดยมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าไปพัฒนาการสร้างจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์โดยการสร้างนวัตกรรมเชิงเนื้อหาด้วยกลยุทธ์การ เล่าเรื่องความเป็นไทยให้มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น มีการพัฒนาการออกแบบ การเล่าเรื่อง นำเอาเนื้อหา ด้านวัฒนธรรมไทยนำเสนอต่อตลาดต่างประเทศ เช่น การพัฒนาแอนิเมชั่นเรื่องเทพ ที่มีการนำเรื่องศาลพระภูมิ ความเชื่อของคนไทยนำเสนอในเวทีระดับนานาชาติ รวมทั้งการนำนวัตกรรมรูปแบบ Virtual Museum มาช่วยเพิ่มช่องทางการนำเสนอผลงาน และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์ ยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 50 ล้านบาท
- คลัสเตอร์ไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 6 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการ 885 ราย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เข้าไปพัฒนานวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์สำหรับยับยั้ง การงอก และกระตุ้นการงอกของหัวพันธุ์ปทุมมา ช่วยเพิ่มผลิตภาพด้านการจำหน่าย การนำระบบเครื่องจักรกลการเกษตรโรงเรือนไม้ดอกอัจฉริยะสำหรับต้นบอนสีช่วยควบคุมการผลิต เพิ่มปริมาณให้ได้มาตรฐาน ช่วยสร้างสีของต้นบอนตามความต้องการของตลาด รวมทั้งพัฒนาระบบแสงเทียมเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของตันกล้าเบญจมาศ กระตุ้นการออกดอกให้สม่ำเสมอ มีคุณภาพ การนำสารสกัดซิลิก้า จากแกลบมาเพิ่มประสิทธิภาพความต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืช การใช้ระบบการควบคุมอัจฉริยะสำหรับกล้วยไม้ (smart farm) การให้น้ำ ปุ๋ย ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อลดต้นทุนการจ้างแรงงาน สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 50.6 ล้านบาท
- คลัสเตอร์ health and wellness economy จำนวน 5 คลัสเตอร์ มีผู้ประกอบการ 717 ราย โดยสถาบันสิ่งทอ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาการเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้กับสิ่งทอ เช่น ผ้าคอลลาเจน ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความนุ่มสบาย รวมถึงช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิว การดูดซับกลิ่น หรือการออกแบบเสื้อผ้าให้เหมาะกับกลุ่ม ผู้สูงวัย ทำให้สามารถสวมใส่ได้เองลดการพึ่งพาบุคคลอื่น สร้างนวัตกรรมผ้าที่มีอัตลักษณ์ในท้องถิ่นอีสาน เช่น ผ้าไหม ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ การใช้เทคนิคการตัดต่อผ้า (patch work) วางสีสัน ลวดลาย และพัฒนาเส้นใยธรรมชาติแบบใหม่ เช่น ใยกล้วย ใยกัญชง โดยใช้สีธรรมชาติย้อม ผสมผสานกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้ทันสมัย มีความแข็งแรงทนทาน ตลอดจนการใช้นวัตกรรม circular textile ด้วยการนำเศษวัสดุจากการผลิต มาทำเป็นผืนผ้าใหม่ มีรูปแบบที่ทันสมัยเพิ่มความน่าสนใจ ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 40 ล้านบาท
- คลัสเตอร์กระเทียม โดยสถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การ์ลิคมาโยซอสหรือซอสมายองเนสที่มีกลิ่นหอมจากส่วนผสมของกระเทียมไทย 100% สามารถรับประทานได้หลายรูปแบบ เช่น เป็น ซอสจิ้ม น้ำสลัด สเปรดทาขนมปัง เป็นต้น อีกทั้งสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง
- คลัสเตอร์ทุเรียน โดย สถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มทุเรียนหมอนทอง ปรุงสำเร็จ ชนิดผง ซึ่งจะเป็นผงแห้งละเอียดสีเหลืองอ่อนที่มีส่วนผสมของทุเรียนและเวย์โปรตีนเข้าด้วยกัน เป็นเครื่องดื่ม ที่มีประโยชน์ อีกทั้งสามารถละลายได้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น โดยตลาดเป้าหมายเป็นสินค้าที่จำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ จีน ฮ่องกง เป็นต้น
- คลัสเตอร์เกลือ โดยสถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โคลนเกลือพอกผิว จากดอกเกลือที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์ผิว นำมาผสมกับโคลนธรรมชาติที่มาจากแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำแม่กลอง มาผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ พัฒนาเป็นโคลนเกลือพอกผิว
9 คลัสเตอร์สมุนไพร โดยสถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์พุดดิ้งข้าวผสมน้ำหมากเม่า พร้อมบริโภค ผลิตภัณฑ์นี้มีส่วนผสมหลักจากวัตถุดิบพื้นเมือง มีความนุ่ม ลื่น สามารถกลืนได้ง่าย พร้อมผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบ Sterilize สามารถจัดเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็นนานถึง 6 เดือน - คลัสเตอร์แปรรูปอาหารทะเล โดยสถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวแคบหมึก โดยใช้เทคโนโลยีการถนอมอาหาร และยืดอายุการเก็บรักษาด้วยวิธีการทำแห้งโดยการใช้ความร้อน เพื่อลด Water activity ของผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการควบคุม และป้องกันการเจริญเติบโต ของเชื้อจุลินทรีย์ ก่อนนำมาทอดแบบน้ำมันท่วมโดยใช้น้ำมันที่ทนความร้อนสูงมีจุดเกิดควันต่ำและควบคุมอุณหภูมิตามที่กำหนดเพื่อให้แคบหมึกกรอบฟู ก่อนนำมาคลุกผงปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติ บรรจุลงถุงฟอยล์อลูมิเนียมแล้วทำการไล่อากาศภายในถุงด้วยแก๊สไนโตรเจน เพื่อลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น
- คลัสเตอร์แปรรูปประมงน้ำจืด โดยสถาบันอาหารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งเผาพร้อมน้ำจิ้มสไตล์อีสาน (แช่แข็ง) ซึ่งได้นำกุ้งก้ามกรามของจังหวัดกาฬสินธุ์ มาพัฒนาแปรรูปเป็นกุ้งเผาที่รับประทานได้ง่าย สะดวก และเก็บรักษาได้นาน โดยใช้เทคโนโลยีการถนอมอาหารแบบแช่เยือกแข็ง (Freezing) ให้คงลักษณะเนื้อสัมผัสของกุ้งที่เนื้อแน่น และคงรสหวานตามธรรมชาติ พร้อมรับประทานเพียงอุ่นด้วยไมโครเวฟ สามารถเพิ่มรสชาติ ด้วยน้ำจิ้มสไตล์อีสาน จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบรับกับวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน
โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาของสถาบันอาหารทั้ง 5 คลัสเตอร์นี้ ได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ 852 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 36 ล้านบาท
“นอกจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ยกระดับผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน และการดำเนินงานของกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว สสว. ยังมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการและหน่วยบริการ (Service Provide) ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แม้ว่าจะอยู่ในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เกิดเป็นรูปแบบการดำเนินงานที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ และออฟไลน์ มาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม การแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และวิถีการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้อย่างดี เกิดเป็นปรากฎการณ์ทางการตลาด การเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำเสนอสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง ที่มีความทันสมัยถูกต้องแม่นยำขึ้น เราหวังว่าการดำเนินงานในปีนี้จะสามารถเป็นต้นแบบของแนวทางการพัฒนาและก้าวข้ามผ่านความท้าทายในการสร้างเครือข่ายที่แม้เ เว้นระยะห่าง แต่การปฏิสัมพันธ์ ความห่วงใย เป็นกำลังใจให้กันและกันไม่น้อยลงในปัจจุบัน” นายวีระพงศ์กล่าวปิดท้าย