สวค. จับมือ สกสว. เปิดวงรับฟัง ประสบการณ์การประเมินของ ‘เอดีบี’ ธนาคารพัฒนาเอเชีย สู่แนวทางการประเมินการวิจัยและนวัตกรรมไทย

ผศ.ดร. ประพัฒชนม์ จริยะพันธุ์  ผู้อำนวยการสำนักงานติดตามและประเมินผล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือ (Consortium) ของผู้ประเมินการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของชาติ ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.)  ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อให้ผู้บริหารและบุคลากรในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) มีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากขึ้น

ทั้งนี้จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ระบบ ววน.) ของประเทศได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม โอกาสนี้ สกสว. ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม จึงร่วมกับ มูลนิธิ สวค. ได้ดำเนินโครงการนี้ขึ้น  เพื่อพัฒนารูปแบบการติดตามและการประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม จัดทำฐานข้อมูลทำเนียบนักประเมินผลการวิจัยและนวัตกรรม  ตลอดจนศึกษาองค์ความรู้ว่าด้วยศาสตร์ การติดตามและประเมินผลจากการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ รวมทั้งศึกษารูปแบบการจัดตั้งเครือข่ายผู้ประเมินของต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความร่วมมือ (Consortium) ด้านการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของการวิจัยในประเทศไทย

โดยการประชุมในวันนี้ได้รับเกียรติจาก ดร. วินอด โทมัส อดีตผู้อำนวยการด้านการวัดและประเมินผล ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ร่วมเป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์และแนวทางการประเมินโครงการให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟัง  และได้ฉายภาพให้ผู้เข้าร่วมประชุมมองเห็นถึงแนวทางสำคัญของการประเมินงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานที่สำคัญ อาทิ  ผู้ประเมินต้องไม่นำตัวชี้วัด (Indicator) มาใช้ตัดสินวัดผลสำเร็จของผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นๆทั้งหมด แต่ให้คำนึงทางบริบท และแนวทางการประเมินผลงานวิจัยตามหลักการของศาสตร์การวิจัยนั้นๆ ตลอดจนรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการวิจัย นวัตกรรม โดยคำนึงถึงการสร้างการมีส่วนร่วม ที่สร้างพื้นที่เชิญให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพินิจพิเคราะห์ร่วมกัน  เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างมีศักยภาพสูงสุดและปราศจากข้อกังขาในมิติต่างๆ อย่างการคอร์รัปชัน เป็นต้น

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *