ผู้นำด้านสุขภาพประชุมหารือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงทั่วเอเชียแปซิฟิก #TakeControl สุขภาพของตนเองในยุคดิจิทัลในช่วงสถานการณ์โควิด-19

• ในช่วงเวลา 18 เดือนของการระบาดโควิด-19 มีจำนวนผู้หญิงกว่า 12 ล้านคนทั่วเอเชียแปซิฟิกประสบปัญหาการเข้าถึงการคุมกำเนิด ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์กว่า 1.4 ล้านคน
• การประชุม #TakeControl เป็นการประชุมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านดิจิทัล นวัตกรรม และการร่วมมือกันของแต่ละฝ่าย
• มีตัวแทน 16 ท่านจากหน่วยงานราชการจากประเทศต่างๆ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขทางไกล สมาคมผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และอินฟลูเอนเซอร์ทางดิจิทัล ร่วมตั้งปณิธานมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงมีข้อมูลความรู้ในการตัดสินใจเลือกเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

เนื่องในวันคุมกำเนิดโลกซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายน ของทุกปี บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานกำกับดูแลด้านนโยบาย องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ไม่ขึ้นต่อหน่วยงานรัฐ (NGO) ผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขทางไกล สมาคมผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ทางดิจิทัล เข้าร่วม การประชุมออนไลน์ระดับเอเชียแปซิฟิก หัวข้อ #TakeControl: Shaping Digital Health for Women in the COVID Decade โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงตัดสินใจเลือกการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ โดยการประชุมนี้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้หญิงหลายล้านคนไม่สามารถวางแผนครอบครัวและดูแลปกป้องสุขภาพของตนเองได้ ไบเออร์ตระหนักถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อทำให้การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้จัดการประชุมออนไลน์ขึ้นโดยร่วมมือกับองค์กรหลักๆ ในภูมิภาค โดยการประชุมนี้ได้มีประเด็นสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้หญิง อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและความร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนในการกำหนดอนาคตที่ผู้หญิงมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสุขภาพและการวางแผนครอบครัว

การประชุมออนไลน์ครั้งนี้ประกอบด้วย 3 หัวข้ออภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญ และเป็นการประชุมในวาระครบรอบ 15 ปีของวันคุมกำเนิดโลก โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากองค์กรชั้นนำ อาทิ International Planned Parenthood Federation หรือ IPPF, Pathfinder International, Commission on Population and Development of Philippines หรือ POPCOM, Indonesia Midwives Association, Taiwan Association of Obstetrics and Gynecology หรือ TAOG, DOC2US, Malaysian Pharmacists Society และ Reach52

หัวข้อการประชุมที่ 1 No Woman Left Behind: COVID-19 and Unplanned Pregnancies ได้หยิบยกประเด็นเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ที่ส่งผลกับการเข้าถึงการบริการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวของผู้หญิง รวมถึงภาระจากการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผน ข้อมูลจาก International Planned Parenthood ระบุว่า คลินิกประจำและคลินิกเคลื่อนที่ 5,633 แห่ง รวมถึงสถานบริการสุขภาพระดับชุมชนใน 64 ประเทศต้องปิดตัวลงในเดือนเมษายนปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การระบาด “เราเล็งเห็นถึง 3 ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุได้แก่ การที่ผู้หญิงเข้าถึงข้อมูลด้านการวางแผนครอบครัวได้ล่าช้าขึ้น ผู้หญิงไม่สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาล เข้าพบแพทย์ และรับยาได้เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทาง และความล่าช้าในการกลับมาเปิดให้บริการสุขภาพอีกครั้ง” Dr. Jameel Zamir ผู้อำนวยการด้านโครงการและการดำเนินงานของสหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย (ESEAOR) ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวในระหว่างการอภิปรายในหัวข้อแรก “ส่วนหน้างานจริง ได้ทราบถึงปัญหาด้านซัพพลายเชน สถานพยาบาลที่มีภาระล้นมือ รวมถึงความกังวลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพของผู้หญิง และเมื่อการเข้ารับคำปรึกษาด้านการวางแผนครอบครัวหยุดชะงักลง คนในครอบครัวก็ต้องแบกรับภาระหนักขึ้นด้วยเช่นกัน” ด้วยสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้ผู้หญิงหันมาใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้อาจเกิดความเข้าใจที่ผิด ตลอดจนการตีตราทางสังคมและวัฒนธรรม (culture and social stigma) เป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้น

หัวข้อการประชุมที่ 2 Step Into Her World: Engaging to Empower Online มีการอภิปรายถึงปัจจัยหลักเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิดที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต และความจำเป็นของการรณรงค์ให้เข้าถึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ “ผู้หญิงหลายคนในฟิลิปปินส์ เข้าไปดูข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งเล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติและความต้องการที่อยากจะให้แพทย์เข้าสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นด้วย ด้วยสถานการณ์ที่ผู้หญิงหันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น แต่แพทย์ยังไม่ได้ใช้ช่องทางออนไลน์” Dr. Michelle Dado ประธานของ Quezon City Medical Society District IV (ฟิลิปปินส์) กล่าวในหัวข้ออภิปรายที่สอง “การศึกษาคือวิธีทางเดียวที่จะส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลมากขึ้น และนำสิ่งที่พวกเขาทำในการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจเลือกวิธีคุมกำเนิดจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในกลุ่มเยาวชนผู้หญิง”นอกจากจะส่งผลให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยม การระบาดครั้งนี้ยังช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริการสุขภาพไปสู่ระบบดิจิทัลในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญในหัวข้ออภิปรายที่สาม The New Phygital: Innovating expanded access to women’s health อธิบายถึงเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบสุขภาพในยุคปัจจุบัน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพและแนวทางการวางแผนครอบครัวให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้หญิง

“ภูมิภาคที่มีความหลากหลายของเรา มีความต้องการด้านการคุมกำเนิดสูงเป็นอันดับต้นๆ แต่กลับมีอัตราการคุมกำเนิดต่ำที่สุด ซึ่งสถิติเหล่านี้น่าเป็นห่วงมาก แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็จะพบว่า ภูมิภาคของเรามีการเติบโตในด้านดิจิทัลสูงที่สุด และแพลตฟอร์มดิจิทัลก็เป็นตัวขับเคลื่อน 3 องค์ประกอบหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้หญิง ซึ่งประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือก่อนและหลังคุมกำเนิด การเข้าถึงข้อมูลและวิธีการคุมกำเนิด และความเป็นส่วนตัว” Jack Shen Lim ผู้บริหารจาก Malaysian Pharmacists Society กล่าวในหัวข้ออภิปรายที่สาม “เมื่อมีทุกอย่างอยู่บนแพลตฟอร์มที่เหมาะกับผู้คนในแต่ละประเทศ และเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงได้สะดวกสบายจากที่บ้านแบบเป็นส่วนตัว เราก็สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพและการคุมกำเนิดของผู้หญิงได้มากขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็จะช่วยลดอัตราการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์ด้วย”

ในหัวข้อสรุปของการประชุมหารือออนไลน์ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 16 คน ได้ให้ความมุ่งมั่นร่วมกันว่าจะเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจตามทางเลือกของตนได้ ทั้งในด้านสุขภาพและการใช้ชีวิต แม้ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาด นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจนี้ และช่วยกันส่งเสียงเพื่อสิทธิ์ด้านความจำเป็นในสุขภาพสตรี รวมถึงการส่งเสริมสิทธิ์ของผู้หญิงในด้านนี้ “การคุ้มครองสุขภาพสตรีและการรักษาระดับความคืบหน้าของการเข้าถึงยาคุมกำเนิดยังถือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงโควิด-19 ความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนและนวัตกรรมดิจิทัลนั้นสำคัญต่อการส่งเสริมการวางแผนครอบครัวควบคู่ไปกับการเข้าถึงการคุมกำเนิดอย่างไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพสตรี การวางแผนครอบครัว และการคุมกำเนิดด้วย” Dr. Shivani Kapur ผู้บริหารฝ่ายการแพทย์ แผนกฟาร์มาซูติคอลของไบเออร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “ความมุ่งมั่นที่มีมาอย่างยาวนานในด้านสุขภาพสตรีเป็นแรงผลักดันให้เราสร้างรากฐานเพื่ออนาคตที่ดีกว่า โดยการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิ์ของผู้หญิงในการตัดสินใจตามข้อมูลทางเลือกเกี่ยวกับสุขภาพและการวางแผนครอบครัวของตนเอง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยเพื่อการรักษาโรคในสตรี และการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่เรามีให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงด้วยแนวทางและวิธีการที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม และในแพลตฟอร์มที่เหมาะสม”

ไบเออร์ร่วมมือกับภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิกเพื่อแนะนำนวัตกรรมที่ช่วยผลักดันให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการดำเนินงานร่วมกับ BKKBN ในอินโดนีเซีย, POPCOM ในฟิลิปปินส์, สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ในไทย รวมถึง Family Planning and Women’s Union (FPWU) และ Government Office of Family Planning (GOPFP) ในเวียดนาม ไบเออร์มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้มี Health for all, Hunger for none โดยจะลงทุนในโครงการช่วยเหลือร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งเป้าหมายที่จะจัดหาวิธีการคุมกำเนิดที่ทันสมัยให้กับผู้หญิง 100 ล้านคนในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลางให้ได้ภายในปี 2573
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิด โปรดดูที่ https://www.your-life.com

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.