รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานการประชุมหารือกับคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และตัวแทนนักวิจัยระดับแนวหน้าด้านสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้แนวคิด “การนำความรู้สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า นักวิจัยต้องเพิ่มมูลค่าของงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมให้ต่อยอดกับยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล เช่น นโยบาย BCG Model ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ทำงานวิจัยแบบเดิม ๆ ต้องตั้งธงกำหนดเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน เช่น การกำหนดค่าดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (OHI) ว่าจะต้องมีคะแนนดีขึ้นภายในกี่ปีข้างหน้า การปลูกป่าให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี ลดอุณหภูมิของประเทศไทยลง เป็นต้น อีกทั้งต้องสร้างความตระหนักให้คนในประเทศมีส่วนร่วมในการนำสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ พร้อมทั้งเห็นด้วยกับแนวคิดของผู้บริหาร สกสว.ที่จะพัฒนาอาสาสมัครสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “ประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว สกสว.และหน่วยบริหารจัดการทุนจะต้องทำให้โดดเด่น เพราะเป็นเรื่องที่หนุนภาพลักษณ์ของประเทศให้เห็นว่าเรามีจิตใจงดงาม สนใจมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้โลกทั้งใบเป็นสีเขียวมากขึ้น ธรรมชาติไม่ใช่เรื่องของประเทศแต่เป็นเรื่องของโลกเกี่ยวพันกันทั้งหมด จะทำอย่างไรให้โลกสดใสยั่งยืน นอกจากนี้ยังอยากให้จัดเวทีด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงฉากทัศน์ควบคู่กับการเปลี่ยนความคิดของคนไทยให้เป็นคนที่รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม อาจจะทำหลักสูตรการศึกษา และเชิญรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันทำงานต่อ พร้อมกับสื่อมวลชนมาร่วมกันทำข่าว เพื่อให้งานของเรามีระดับขึ้น ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของนักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของคนทั้งสังคม โดยเฉพาะผู้นำ นายกรัฐมนตรีและ รมว.อว. คนต่อไปก็ต้องทำเรื่องพวกนี้ พวกเราต้องเข้มแข็ง มุ่งมั่นและร่วมกันผลักดันร่วมกับภาคประชาสังคมและชุมชน”
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
และหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการน้ำในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่าการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยบำบัดน้ำเสียและนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ทำให้ช่วยประหยัดแรงงานคนและประหยัดน้ำในโรงงานได้ถึงร้อยละ 17 ส่วนภาคการเกษตรสามารถประหยัดน้ำได้ถึงร้อยละ 30 ซึ่งทีมวิจัยจะต้องทำฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน เมื่อมีเทคนิคแล้วก็ต้องมีกฎหมายและองค์กรพิเศษเพื่อบริหารจัดการน้ำ EEC
โดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์
หลักสูตรสหสาขาวิชาการบริหารกิจการทางทะเล บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) วิทยาศาสตร์ทางทะเลสู่ผลประโยชน์ชาติทางทะเลที่ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ หลักสูตรสหสาขาวิชาการบริหารกิจการทางทะเล บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้จัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: OHI) ซึ่งประเมินความสามารถของมหาสมุทรที่ให้ประโยชน์สำคัญแก่มนุษย์ ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยเชื่อมโยงถึงผลประโยชน์ชาติทางทะเล รวมถึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายร่วมกับหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีอยู่ยังเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและขาดข้อมูลวิจัยสนับสนุน จึงควรจะต้องศึกษาเรื่องนี้และทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้การวางแผนของผู้มีอำนาจตัดสินใจใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างเป็นองค์รวม และต้องมีแผนที่ที่สะท้อนความเป็นปัจจุบัน ประเด็นสำคัญคือ บทบาทของระบบนิเวศทางทะเลมีมากแค่ไหนต่ออ่าวไทยทั้งระบบ ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และศึกษาร่วมกันให้ชัดเจน
3) การจัดการป่าไฟป่า และ PM2.5 โดยชุมชน โดย นายชาญ อุทธิยะ เครือข่ายพื้นที่จังหวัดลำปาง สกสว. และนายบวร วรรณศรี ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์และอนุรักษ์ธรรมชาติ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้จัดทำโครงการแนวกันไฟร่วมกับกรมป่าไม้โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้ในการป้องกันไฟป่าในชุมชน ควบคู่กับการปลูกป่าผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้ป่าฟื้นตัวได้ดีขึ้น ซึ่งได้ขยายโครงการเพิ่มเป็น 11 หมู่บ้าน จาก 4 หมู่บ้าน เปรียบเสมือนการติดอาวุธทางปัญญาเพื่อบริหารจัดการชุมชนอย่างเป็นระบบ และช่วยให้ภาครัฐลดภาระค่าใช้จ่ายได้ปีละไม่ต่ำกว่าปีละ 3-4 แสนบาท แต่วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ชุดความรู้ไม่ได้ถูกนำไปกำหนดเป็นนโยบายจังหวัด ยังเป็นชุดความรู้เฉพาะที่ เน้นการป้องกันและการรณรงค์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ลงลึกเรื่องการดับไฟในใจคน
รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง
ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกสว.
4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย รศ.ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้ประสานงานชุดโครงการศูนย์ประสานงานและพัฒนางานวิจัยด้านโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกสว. และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมและพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยว่า ผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศ ทำให้ต้องดูว่าภาคส่วนใดต้องลดก๊าซเรือนกระจก จากผลการวิจัยได้ย้ำว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเกิดเป็นรายปี และเป็นวิถีใหม่ที่เราจะต้องอยู่ให้ได้ ผลจากการวิเคราะห์กับ สกสว. พบว่างานวิจัยในระยะยาวจะต้องอยู่ในบริบทของความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอาจมองเป็นระบบนิเวศตามธรรมชาติทำงานสอดประสานกัน เพื่อให้สังคมมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การสร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศสามารถต่อยอดจากงานวิจัยได้ทั้งเรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและแบบจำลองภูมิอากาศ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนย่อยต่างมีเป้าหมายที่จะบูรณาการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่ยังมีช่องว่างคือ ยังไม่มีระบบที่จะทอนนโยบายออกมาเป็นโจทย์วิจัยที่ชัดเจน หากต้องการให้มีความเข้มแข็งในเชิงระบบจะต้องมีกระบวนการเพิ่มเติม