ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยต่อยอดสมุนไพรไทยจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สมุนไพรไทยนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถใช้บรรเทาอาการเบื้องต้นของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงได้สนับสนุนทุนวิจัย ให้กับรองศาสตราจารย์ ดร.รภัสสา จันทาศรี แห่งคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) ดำเนินการโครงการนาดูนโมเดลต้นแบบสมุนไพร GAP สู่การขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม เพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการใช้พืชสมุนไพรมาต่อยอดในการรักษาโรค
รองศาสตราจารย์ ดร.รภัสสา จันทาศรี แห่งคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เปิดเผยว่า สมุนไพรไทยนั้นเป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เมื่อปี 2560 จังหวัดมหาสารคามได้รับเลือกเป็นเมืองสมุนไพร มีเป้าหมายให้การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรอย่างมีคุณภาพและมีมาตรฐาน รวมถึงสร้างเครือข่ายสมุนไพรของจังหวัดมหาสารคาม จึงมีความคิดริเริ่มโครงการนาดูนโมเดลต้นแบบสมุนไพร GAP สู่การขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม โดยเลือกพื้นที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป้าหมายคือการนำองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไปสาธิต รวมถึงถ่ายทอดนวัตกรรมระบบการผลิตสมุนไพรในระบบ GAP จนสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐาน สามารถส่งออกจำหน่ายได้
นักวิจัย กล่าวอีกว่า โครงการนาดูนโมเดลต้นแบบสมุนไพร GAP สู่การขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม เป็นการผลิตสมุนไพรในระบบ GAP มีการผลิตตั้งแต่ ต้นทาง ได้แก่ การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกสมุนไพร จำนวน 500 ไร่ และกลุ่มแกนนำประยงค์บ้านไร่สมุนไพรที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กลางทาง ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพโรงงานผลิตยาสมุนไพรศูนย์บริการแพทย์ไทยจัมปาศรีสู่มาตรฐาน GMP และผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ และปลายทาง ได้แก่ สามารถสร้างรายได้เกษตรกรที่ผลิตสมุนไพรอินทรีย์ ลดพื้นที่การใช้สารเคมีในการผลิตสมุนไพร สามารถจัดตั้งตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงการจัดตั้ง Herbal village outlet และ นำเสนอแนวทางและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนพัฒนาโครงการเมืองสมุนไพรมหาสารคาม จนสามารถสร้างเครือข่ายการผลิตสมุนไพรและแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP และ GACP รวมถึงสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตร โดยการหาช่องทางการตลาดในหลาย ๆ ภาค
โครงการนาดูนโมเดลต้นแบบสมุนไพร GAP สู่การขับเคลื่อนเมืองสมุนไพรจังหวัดมหาสารคาม ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกสมุนไพรในจำนวน 8 อำเภอ 9 กลุ่มวิสาหกิจ มีจำนวนสมาชิก 744 คน มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 722 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ผลิตสมุนไพรมีรายได้เสริมจากอาชีพหลัก โดยการจำหน่ายสมุนไพรในรูปแบบทั้งสด แห้ง และแปรรูปหลายชนิดตามศักยภาพของพื้นที่ อาทิ กระชายขาว มีสาร บอเชนเบจินเอ และสารแพนดูเรทีน สารทั้งสองตัวนี้ในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ ฟ้าทะลายโจร มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ ทำให้ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้น และมีส่วนช่วยในการป้องกันปอดอักเสบ มะขามป้อมอินทรีย์ เป็นยาแก้ไอ ละลายเสมหะ โดยพื้นบ้านใช้รักษาหลอดลมอักเสบ วัณโรคปอด หอบหืด ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ขิง มีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านการอักเสบ และขมิ้นชัน สารสำคัญของขมิ้นชัน และ demethoxycurcumine สามารถแย่งจับกับตำแหน่งของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ และคาดว่าในอนาคตจะมีการทำวิจัยและต่อยอดสมุนไพรไทย โดยการแปรรูป สมุนไพรไทยมาเป็นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ชนิดแคปซูล ชาผง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย พกพาสะดวก และง่ายต่อการรับประทาน รวมถึงหาช่องทางการวางจำหน่ายตามร้านขายยา โมเดิร์นเทรด และโรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ อีกด้วย