สกสว.จัดรายงานการศึกษาเชิงลึกว่าด้วยบทเรียนในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หลังวิกฤต COVID-19 รองรับการเปลี่ยนแปลง Technology Transformation ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมรายงาน การศึกษาเชิงลึกว่าด้วยบทเรียนในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์เพื่อการควบคุมโรคและแนวโน้มการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีหลังวิกฤต COVID-19 โดยมี ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ รศ.ดร.นพ. พงศกร ตันติลีปิกร พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) รวมการประชุมและแลกเปลี่ยนความเห็น
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์โครงการ การศึกษาเชิงลึกว่าด้วยบทเรียนในการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ ว่า เพื่อศึกษาและประเมินประสิทธิผลของมาตรการควบคุมโรค (Disease control) ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมโรคในช่วงการแพร่ระบาด ของโรคโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ในประเทศ ที่สำคัญสถานการณ์ระบาด ทำให้เกิดภาวะวิกฤติจาก COVID-19 ทั่วโลก ทำให้มีการพัฒนาและใช้องค์ความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ โดยมีการคาดการณ์ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะนำไปสู่การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี (Technology Transformation) และเกิดการแพร่กระจายของนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องแม้ผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปแล้ว และเนื่องจากการระบาดของโรคในปัจจุบันทั่วโลกยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ มาตรการในการตรวจคัดกรอง ควบคุม ติดตาม ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนและควบคุมในประเทศเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในเชิงกว้าง ดังนั้น สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการจัดทำแผนด้าน ววน. และ เป็นข้อมูลฐาน (Baseline) ประกอบตัวชี้วัดผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบ จากการวิจัยต่อไป
ด้าน นางสาวน้ำฝน ประโพธิ์ศรี นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) นำเสนอว่า
หนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์และสุขภาพคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล ความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมายและตอบทุกความแตกต่าง ทั้งต่อบุคคลทั่วไป ผู้ป่วย แพทย์ นักวิจัย และผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับองค์กร
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผลการศึกษารองรับอย่างแน่ใจ ถึงประสิทธิผล ผลกระทบและนโยบายในการสนับสนุนการใช้งาน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการตัดสินใจในเชิงนโยบายและประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อสร้างอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่เข้มแข็ง จึงจัดทำข้อเสนอโครงการนี้ขึ้น เพื่อศึกษาแนวทาง และผลกระทบจากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมทั้งวิเคราะห์แนวโน้มในปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์อนาคต (foresight) แนวทางในการกำหนดมาตรการหรือนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลง Technology Transformation ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นักวิจัยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวอีกว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชนเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยมีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีอยู่ในระดับที่ดี มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถพัฒนาขึ้นได้ในประเทศ แต่สำหรับภาวะวิกฤติ COVID-19 ได้สะท้อนให้เห็นความท้าทาย ทางด้านเทคโนโลยี 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นที่ 1 คือ หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจทางกฎหมายดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุข มีความรู้ความเข้าใจที่จำกัดในด้านเทคโนโลยี ดังนั้นเมื่อหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ริเริ่มในการพัฒนาเทคโนโลยี หรือบูรณาการการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก และต้องใช้ระยะเวลานานในการคิดวางแผนพัฒนา รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา ซึ่งถึงแม้ว่าหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีในการช่วยคิด วางแผนพัฒนา และแก้ปัญหา แต่ก็ยังคงมีช่องว่างในเรื่องความรู้และความเข้าใจของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขที่มีต่อเรื่องเทคโนโลยีและของหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อเรื่องสาธารณสุข
ประเด็นที่ 2 ประชาชนกลุ่มหนึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี เนื่องด้วยความไม่พร้อมทางเศรษฐสถานะ หรือโครงข่ายของระบบอินเทอร์เน็ตยังเข้าไปไม่ถึง รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่ก็ขาดความเข้าใจในการใช้งาน จึงทำให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เข้าไม่ถึงข้อมูล และสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ รวมถึงความท้าทายทางด้านการหาสมดุลระหว่างการควบคุมโรคสังคมและระบบเศรษฐกิจ ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ขณะเดียวกันข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รัฐบาลตัดสินใจเลือกที่จะทำการปิดประเทศและล็อคดาวน์ทั่วประเทศ เพื่อยับยั้งการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ