สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม WORKSHOP ประชุมเชิงปฏิบัติการ “ระดมสมองในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ (Business Model) ที่เหมาะสมสำหรับกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.)” กิจกรรมสำคัญภายใต้การศึกษาโครงการ “การศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพัฒนา กลยุทธ์ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของ สกสว.” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญร่วมให้ความรู้ ประกอบด้วย ผศ. ดร.คมน์ พันธรักษ์ และ ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล จาก คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย คุณปรวี หะรีเมา จากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โอกาสนี้ รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแล และปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน เปิดเผยข้อมูลว่า การระดุมทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สกสว. ดังที่มีการระบุไว้ใน กลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564-2566 (ฉบับทบทวน) ว่า “สกสว. ต้อง ระดมและร่วมลงทุนกับกองทุนและหน่วยงานอื่นเพื่อเพิ่มและกำกับทิศทางงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศเพื่อเป็นการกำหนดกลยุทธ์ในการร่วมทุนด้าน ววน. หรือกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือดำเนินงาน ก่อให้เกิดการ ระดมทุนและเพิ่มการลงทุนด้าน ววน. โดยพิจารณาทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร” การจัดงานในวันนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆสำคัญ ที่จะนำไปสู่การออกแบบกลไกที่เป็นรูปธรรมของในการระดมทุนของ สกสว. ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรภายใน สกสว. เข้าร่วมให้ข้อมูลที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากในภารกิจนี้ให้สำเร็จ
ด้าน ผศ. ดร.คมน์ พันธรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “การศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพัฒนา กลยุทธ์ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของ สกสว.” ได้ฉายภาพ “สถานการณ์ปัจจุบันของการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย” โดยระบุว่าจากข้อมูลแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พศ.2563-2565 ฉบับปรับปรุง สำหรับปีงบประมาณ 2565 พบว่า ในปี พ.ศ.2562 มีจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยอยู่ที่ 193,072 ล้านบาท โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาคเอกชนกับ ภาคส่วนอื่น ๆ อยู่ที่ ร้อยละ 77 : 23 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการลงทุนจากภาคเอกชนยังคงสูงกว่าทางภาครัฐอยู่มาก โดยในปี พ.ศ. 2570 มีการตั้งเป้าหมายว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างภาคเอกชนกับ ภาคส่วนอื่นๆ ต้องมาอยู่ที่ ร้อยละ 70 : 30
โดยประเด็นท้าทายหลักของเป้าหมายด้านการวิจัยและพัฒนาในปี พ.ศ. 2570 คือ การเพิ่มจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาของภาคส่วนอื่น ๆ (โดยเฉพาะภาครัฐ) จาก 43,828 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 เป็น 138,640 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570 คิดเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.48 ต่อปี (การขยายตัวในปี พ.ศ. 2549-2562 อยู่ที่ร้อยละ 10.82 ต่อปี) รวมไปถึงการเพิ่มบุคลากร (คนต่อปี) ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการวิจัยและพัฒนา อย่างไรก็ตามหลังจากร่วมกันระดมสมองของ ผู้บริหารและบุคลากร สกสว. ในวันนี้ โดยวิเคราะห์สภาพองค์กรตามหลัก SWOT Analysis เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรค ตลอดจนการใช้เครื่องมือ TOWS Matrix ออกแบบกลยุทธ์ใหม่จากสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สอดคล้องกับแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบกลไกการระดมทุนของกองทุน ววน.อย่างมีกลยุทธ์และศักยภาพสูงต่อไป