เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ที่ผ่านมา สกสว. สนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยทำหน้าที่ในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำเสนอต่อสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ตลอดจนจัดสรรทุนงบประมาณการวิจัยกระจายไปสู่หน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสังคมไทย ในวันนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงจัดงาน “แถลงผลงานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” เพื่อแถลงผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน (พีเอ็มยู) ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยเป็นการแถลงผลคัดเลือกโครงการที่มีผลกระทบต่อประเทศมาหน่วยงานละ 1 ผลงาน รวม 7 ผลงาน ภายใต้แนวคิด “การขจัดปัญหาความยากจน บีซีจีโมเดล และโควิด 19” โดยในปี 2563 – 2564 กองทุน ววน. ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการวิจัยเป็นเงินจำนวน 12,554 ล้านบาท และ 19,916 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านศาสตราจารย์ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยข้อมูลด้าน ทิศทางการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศ ว่า นโยบายการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือใช้ทิศทางที่ตกลงร่วมกัน ต้องลงทุนตามทิศทางที่จะตอบโจทย์ของประเทศ ถ้าเราเน้นด้านเศรษฐกิจ ต้องให้ภาคการผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถนำผลงานวิจัยไปต่อยอดจนขายได้จริง แหล่งผลิตสินค้าและบริการของประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของโลก ทั้งรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เกือบทั้งหมดต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้จากต่างประเทศ เราต้องเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งผลิตที่ใช้ความรู้ของไทยมากขึ้น สร้างนวัตกรรม สร้างการวิจัยที่ตอบโจทย์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ เราเป็นประเทศเกษตรกรรม มีต้นทุนที่ดีด้านวัตถุดิบ อาจมาเชื่อมต่อกับการวิจัยที่สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการลดขยะให้เหลือศูนย์ (zero waste) และ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (บีซีจี) ด้วยเหตุนี้ กสว.จึงตัดสินใจมุ่งเน้นเรื่องอาหาร เครื่องมืออุปกรณ์ ชีวภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการแพทย์ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ประชากรของเราจำนวนมหาศาลที่เป็นกลุ่มเกษตรกรจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเพื่อเป็นฐานเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการพัฒนาทั้ง “องค์ความรู้ คน นักวิจัย สถาบันวิจัย และระบบ” ที่จะพัฒนาพวกเรากันเอง กับระบบพัฒนาสินค้าและบริการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ระบบการสอบเทียบ เทียบวัด ระบบรับรองมาตรฐาน ทั้งหมดนี้ต้องร้อยเรียงเข้าด้วยกัน
ในขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะเพิ่มงบประมาณที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ขึ้นไปเรื่อย ๆ มุ่งมั่นว่าในปี 2030 จะเพิ่มเป็นร้อยละ 2.0 ของจีดีพี เป็นหมุดหมายที่สำคัญประการหนึ่งว่าเราจะขยับตนเองขึ้นไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือเรื่องการจัดสรรงบประมาณจะต้องบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของเรา โดยเอาเงินปริมาณหมื่นกว่าล้านบาท เป็นเงินลงทุนผลิตผลงาน เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดการลงทุนที่เป้าหมายระดับแสนล้านบาท ข้อสำคัญคือเราจะต้องทำให้ภาคเอกชนเกิดความไว้วางใจ ภาควิจัยต้องมีสร้างความรู้ที่ไกลออกไปกว่างานวิจัยพื้นฐาน ต้องออกจากห้องทดลอง ห้องวิจัย ออกจากหน่วยงาน ไปรับฟัง แลกเปลี่ยนกับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของเงินลงทุนแสนกว่าล้านบาท เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วภาคเอกชนต้องการอะไร แล้วจึงปรับให้การลงทุนของภาครัฐสอดคล้องกับภาคเอกชน
ประการสุดท้ายระบบวิจัย ต้องมีจุดเน้นที่ชัดเจน และต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ว่า งานวิจัยควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำ ประเทศเราต้องออกจากกับดักของความยากจน ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หมายความว่าจะต้องทำให้วิทยาศาสตร์ของเราและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เกิดผลิตภัณฑ์ ผลิตผลและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้ โดยผมมีความเชื่อมั่นว่านักวิจัยไทยมีความสามารถสูง และเป็นพลังสำคัญที่นำพาประเทศไปถึงเป้าหมายนี้ได้