วันนี้ (18 มิถุนายน 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมเชิงสัมมนา เรื่อง “ความท้าทายและการขับเคลื่อนระบบ ววน. กับบทบาทของ สกสว.” โดยระดมผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ สกสว. ประกอบด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.), คณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมมอบนโยบายการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเป้าพัฒนาระบบ ววน. เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
โอกาสนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า การที่จะพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อย่างมีทิศทางและมีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยการขับเคลื่อนระบบ ววน. ในปัจจุบัน มีเป้าหมายสำคัญคือทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการดำเนินงานของกระทรวง อว. ถือเป็นแนวหน้าสำคัญ ต้องมีการกำหนดเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญ ใช้สัมฤทธิผลเป็นตัวตั้ง กล้าที่จะขับเคลื่อนอย่างก้าวกระโดด (Take a Giant Step) และมีความสามารถที่จะเลือกใช้ทางลัด (By Pass) เพื่อลดระยะห่างกับประเทศที่พัฒนานำหน้าไปก่อนแล้ว เหล่านี้จึงจะทำให้ระบบ ววน. สามารถ “ดีดประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง” สำเร็จ โดยมีจุดมุ่งเน้นเริ่มจากการยกระดับคนจนสู่การเป็นกลุ่มรายได้ปานกลาง ตามเป้าหมายคือสามารถสร้างรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อคนต่อปี โดยระบบ ววน. นั้นจะเป็นกลไกในการหนุนการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ นอกจากนี้การลงทุนด้าน ววน. ยังสามารถแก้ไขปัญหาแรงงาน ด้วยการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยไม่จำกัดเฉพาะเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่รวมไปถึงเชิงสร้างสรรค์ด้วย อย่างไรก็ตามการลงทุนด้าน ววน. ผ่านหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU: Program Management Unit) จำเป็นต้องสนับสนุนการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมอย่างรูปแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ โดยการใช้สหวิทยาการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศชั้นนำ
ทางด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นระยะเวลา 2 ปี จนถึงวันนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ สกสว. จะได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคนโยบายและผู้ทรงคุณวุฒิ ในการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนระบบ ววน. ของประเทศไทย อย่างเหมาะสม เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถส่งมอบผลลัพธ์ผลกระทบในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ สกสว. ได้นำเสนอภาพรวมการทำงานในเชิงระบบของระบบวิจัยและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยการระดมความเห็นในเวทีนี้จะเป็นกรอบในการทำงานเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ
นอกจากนี้การประชุมเชิงสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นประกอบด้วย จุดคานงัด (Leverage Points) เพื่อขยับระบบและงาน ววน. ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ, ความเชื่อมโยงสอดประสาน (Alignment) ของ ววน. ในด้านต่างๆ , ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดี (Governance) ของระบบ ววน. โดยผลการระดมความเห็นของที่ประชุมครั้งนี้ จะเป็นข้อเสนอเชิงกลุยทธ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้สามารถสร้างผลลัพธ์ผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศได้แท้จริงต่อไป