เตือน! ไข้เลือดออกระบาดหนักสุดในรอบ 3 ปี รณรงค์ป้องกัน-รู้เท่าทัน-ผนึกพันธมิตร ต้านเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ชี้ไข้เลือดออกระบาดหนักสุดในรอบ 3 ปี พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคกลาง นักเรียนป่วยมากสุด เดินหน้าผนึกกำลัง กทม. และ 9 ภาคีรัฐและเอกชน รณรงค์ป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก พร้อมมอบรางวัลประกวดสื่อสร้างสรรค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยใกล้ตัวและความน่ากลัวของไข้เลือดออก
กรุงเทพฯ – 9 มิถุนายน 2566 – ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” (Moving Forward to Zero Dengue Death) ร่วมกับกรุงเทพมหานครและ 9 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), กลุ่มบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Dengue-Zero และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกัน-รู้เท่าทัน ต้านการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะระบาดหนักที่สุดในรอบ 3 ปี พร้อมมอบเงินรางวัลมูลค่ารวม 100,000 บาท แก่ผู้ชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์ “ASEAN Dengue Day Contest 2023” ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงภัยใกล้ตัวและความรุนแรงของโรค
นพ.โอภาส กล่าวว่า “โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยถึง 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคกลาง โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปี ป่วยสูงสุด รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการ 3 กลยุทธ์ คือ 1) Rebrand รณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค ปรับภาพลักษณ์หน่วยงานรัฐด้วยนโยบายเชิงรุก 2) Rethink เปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก เริ่มต้นจากการดูแลตนเอง และ 3) Reconnect ผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก”
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูงที่สุด จึงได้ออกนโยบายและดำเนินงานเชิงรุก เน้นการป้องกันและเฝ้าระวังก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของไข้เลือดออกแก่ประชาชน เพื่อทำให้กรุงเทพฯ ปลอดโรค ปลอดภัย ห่างไกลจากไข้เลือดออก”
นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นในการปกป้องชีวิตผู้คนให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก คาโอได้ให้การสนับสนุนแก่เนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยสุขภาพรอบตัว ซึ่งได้เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านสุขภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา และกำลังร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ผ่านการสร้างแบบพยากรณ์เพื่อคาดการณ์โอกาสในการเกิดโรค การแพร่ระบาด เพื่อหาวิธีป้องกันให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกต่อไป พร้อมสานต่อโครงการ “GUARD OUR FUTURE” โดยเน้นไปที่กลุ่มเด็กนักเรียนเป็นหลัก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อไข้เลือดออก ผ่านการให้ความรู้และวิธีการป้องกันไข้เลือดออกที่ถูกต้องแก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง โดยตั้งเป้าจัดกิจกรรมกว่า 160 โรงเรียนทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และได้ร่วมมือกับวง Paper Planes ซึ่งเป็นศิลปินขวัญใจกลุ่มเป้าหมายมาร่วมแต่งเพลงให้ความรู้เรื่องไข้เลือดออก พร้อมทั้งมิวสิควิดีโอเพื่อเตือนถึงอันตรายของไข้เลือดออกแก่เด็กๆ และเยาวชนไทย”
นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่สร้างภาระให้แก่ประชาชนและระบบสาธารณสุขของไทย ซึ่งนอกจากการสร้างความตระหนักรู้แล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและครอบครัวจะเป็นอีกหนึ่งวิธีในการพาประเทศไปสู่สังคมห่างไกลไข้เลือดออก ทาเคดาจึงเห็นความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกผ่านนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจากองค์กรทั้งด้านสาธารณสุขจากภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะสามารถเข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยเน้นการป้องกันในโรงเรียนและชุมชน ผ่านการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ แคมเปญสร้างความตระหนักรู้ผ่าน อิงมา หรือ Dengue Virtual Human และเว็บไซต์ www.knowdengueth.com ที่นำข้อมูลเกี่ยวกับสถิติผู้ป่วย ความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และวิธีการป้องกัน เพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลของโรคไข้เลือดออกได้อย่างทันท่วงที โดยหวังว่าการสื่อสารนี้จะส่งเสริมการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้”