วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ได้ร่วมลงนามบันทึก MOU ในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ
นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ที่สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนหันมาให้ความสนใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพกันมากขึ้น เพื่อสร้างสังคมการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2565-2570)
นายวิจารย์ สิมาฉายา
ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
นายวิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม รับรู้ความรุนแรงของปัญหาและผลกระทบที่ตามมามากยิ่งขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับธุรกิจที่ต้องการความก้าวหน้าและความแตกต่างในการแข่งขัน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานฉลากเขียวมาตั้งแต่ปี 2536 ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรกลาง ดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโครงการฉลากเขียว ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการร่วมกันปัจจุบัน ฉลากเขียวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายฉลากเขียว ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ องค์กรสื่อและผู้บริโภค โดยมีสาถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นฝ่ายเลขานุการ มีภารกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการประเภทต่าง ๆ 2) การให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) การประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นร่วมกัน ในการบูรณาด้านการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพให้มีการเติบโตพร้อมกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย