วันที่ 21 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเหมือดแอ่ อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดูผลสำเร็จงานวิจัยสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ จากผลงานโครงการวิจัย เรื่อง “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี การฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือสู่เชิงพาณิชย์” โดยมี ผศ.ดร. รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ผ้าทออีสาน เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น โดยนำองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยใน “โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟอก ย้อม พิมพ์ การออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ฝ้ายทอมือสู่เชิงพาณิชย์” ของ “ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนให้วิสาหกิจชุมชน ซึ่งผลิตสิ่งทอพื้นเมืองที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถต่อยอดประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ และยกระดับผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปถ่ายทอด เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน เป็นฐานรากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีความมั่นคง และยั่งยืนต่อไป
ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์
อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้คนมีความสนใจในวิถีชุมชน วิถีชาวบ้าน ความเป็นธรรมชาตินิยม รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งผ้าทอของอีสานก็เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจที่กำลังได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จึงควรที่จะส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานในรูปแบบต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน มีความเป็นสากลและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก โดยวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติบ้านเหมือดแอ่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดภาคอีสาน และเป็นแหล่งผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าย้อมครามก่อให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีครามจากธรรมชาติ อาทิเช่น ผ้าพันคอจากผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีคราม ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าฝ้ายย้อมสีพิมพ์สีจากใบมังคุด และผลิตภัณฑ์หมวกบักเก็ตจากผ้าฝ้ายทอมือ มีการผสมผสานวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้ผ้าทอมือของไทยมีรูปแบบและลวดลายที่มีความเป็นสากลและเป็นที่นิยมในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายทอมือ หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมวิถีลุ่มน้ำโขง ชี มูล ได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งในการดำเนินงานมีการประสานงานกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดอุบลราชธานี ในการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 70 คน สำหรับการต่อยอดงานวิจัย ในอนาคตจะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ฟอก ย้อม พิมพ์ ตลอดจนการทอผ้าด้วยเส้นด้ายฝ้ายทั่วประเทศที่สนใจเทคโนโลยีนี้ โดยทางทีมผู้วิจัยได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้ เรื่อง “การฟอก ย้อม พิมพ์ ออกแบบ และการสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ” เพื่อใช้ในการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ www.nrct.go.th และคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นต้น ซึ่งในคู่มือดังกล่าวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามได้
โดยผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ Facebook : ผ้าชมดาว และ เพจ Facebook : ครามนาผ้าฝ้าย หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 086-2626754,061-9523623 อีกทั้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะจัดแสดงให้เยี่ยมชมในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ( Thailand Research Expo 2022 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์