สทน.ชูผลงานไฮไลท์ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ลุยต่อปี65 สทน. ชูผลงานไฮไลท์ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ลุยต่อปี65 มุ่งขยายผลไปส่วนภูมิภาคร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆในพื้นที่

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลงานรอบ 16 ปีที่ผ่านมา ในงาน “งานวันสถาปนาครบรอบ ๑๖ ปี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ สนท.ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประะยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ และจะขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ต่อไป โดยชูผลงานกิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลท์อย่างหนึ่งได้แก่ “โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ภายใต้ยุทธศาสตร์ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการยกระดับสังคมเชิงบูรณาการ ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินงานมีความก้าวหน้าและจะทำต่อเนื่องในปี 2565 นี้

“โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” เป็นความพยายามเพื่อนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปช่วยผู้ประกอบการที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทุกภาค ที่มีอาหารรูปแบบต่าง ๆและสมุนไพร เพื่อสร้างนวัตกรรมการฉายรังสีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านไทย เพื่อช่วยยกระดับสินค้าเพื่อให้สะอาด ปลอดภัยและมีมาตรฐาน และสามารถเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้

ดร.กนกพร บุญศิริชัย
ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน.

ด้าน ดร.กนกพร บุญศิริชัย ผู้จัดการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน.กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีที่ทางสถาบันฯนำมาใช้กับอาหาร ในอนาคตอันใกล้เราจะเน้นเรื่องการขยายผลการฉายรังสีอาหาร โดยการฉายรังสีมีประโยชน์ ช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรค ช่วยชะลอการสุก ช่วยควบคุมแมลง และช่วยยืดอายุการเก็บ

-ทั้งนี้จากยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี ที่เน้นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงต้องการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับชุมชน จึงมองถึงเรื่องของอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหารที่เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่น จึงมีกิจกรรมการฉายรังสีอาหารที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพของอาหารพื้นถิ่น โดยกิจกรรมที่ทำเริ่มครั้งแรกปี2563 มีการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสีร่วมกับเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยจัดประกวดเป็น Pitching idea เป็นการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ให้นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์อาหารที่จะนำไปฉายรังสี เป็นการประกวดระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก จากนั้นปี2564 ได้ขยายการประกวดนวัตกรรมอาหารฉายรังสี เป็นระดับปริญญาตรีและประชาชนทั่วไป เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการมาเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมุ่งขยายผลไปส่วนภูมิภาคร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆในพื้นที่ดำเนินการเรื่องอาหารพื้นถิ่น ซึ่งได้เริ่มแล้วในปี 2564 ในพื้นที่ภาคกลางก่อนโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอยุธยา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ และจากสถานการณ์โควิด-19 จึงจัดแบบออนไลน์ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ บูรณาการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อใช้กับอาหาร นวัตกรรม การทำตลาดและอื่นๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ “มีการเปิดรับผู้ประกอบการที่สนใจ ให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ เพื่อคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพที่จะฉายรังสีได้ หรือเรียกว่า พัฒนาผลิตภัณฑ์แชมเปียนส์ โดยเลือกผู้ประกอบการและทดลองฉายรังสีให้ ซึ่งเป็นการฉายรังสีเพื่อตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการเอง ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่า จะรับเทคโนโลยีฉายรังสีไปใช้หรือไม่”

ดร.กนกพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีฉายรังสีกับอาหารยังใช้ไม่แพร่หลาย เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่องค์การอนามัยโลก(WHO)​ให้การรับรองแล้วว่า การฉายรังสีให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีความปลอดภัย และไทยดำเนินการตามแนวทางของโคเด็กซ์ (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งเป็นองค์กรด้านความปลอดภัยอาหารมาตรฐานสากล โดยจะใช้ปริมาณรังสีไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ทั้งรังสีแกมมา รังสีเอ็กซเรย์ และรังสีอิเล็กตรอน ปริมาณรังสีที่ใช้กับอาหารมีปริมาณมากกว่าการฉายรังสีเพื่อตรวจโรค แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและไม่มีการตกค้าง

ขณะนี้สทน.มีโรงงานที่ให้บริการฉายรังสีครบทั้ง 3 ประเภท ผู้ประกอบการด้านอาหารสามารถมาใช้บริการฉายรังสีได้ที่ โรงงานที่เทคโนธานีคลอง5 จ.ปทุมธานี ซึ่งที่ผ่านมาผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร ผลไม้เพื่อส่งออก เพื่อชะลอการสุก เนื่องจากช่วยลดจุลินทรีย์จึงช่วยลดการเน่าเสีย ยืดอายุการเก็บ ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสีแล้วจะมีการติดฉลากสัญลักษณ์ที่เป็นสากล ผู้ประกอบการด้านอาหารและสมุนไพรที่ประสงค์จะมาใช้บริการฉายรังสี ไปใช้บริการได้ที่โรงงานคลอง 5 โรงงานอื่นบริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อและเครื่องมือแพทย์

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.