รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
ผู้อำนวยการ สกสว.
คณะทำงานจัดการความรูเพื่อพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัย (สกสว.) ได้จัดประชุมหารือเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมน้ำมันและการกลั่น” โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เป็นประธานการประชุม ร่วมหารือกับภาคีภาครัฐ ด้านพลังงาน ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ตลอดจนตัวแทนจากภาคเอกชน
นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลว่า ด้วยปัญหาภาวะโลกร้อนที่นำไปสู่สนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิด Net Zero Carbon Emission ในปี 2050 ทำให้ทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานปิโตรเลียมมาสู่การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้นในอนาคต โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2030 ประเทศไทยจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20%
แม้ว่าความต้องการน้ำมันของโลก (Global oil demand) น้ำมันยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบัน ซึ่งถูกใช้ในภาคส่วนการขนส่ง เป็นภาคส่วนหลักที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงสุด แม้ปัจจุบันจะมีพลังงานทดแทนอย่างอื่นก็ไม่อาจทำให้ความต้องการน้ำมันของโลก (Global oil demand) ลดน้อยลง เรียกได้ว่าน้ำมันยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดของพลังงานโลกอยู่ อย่างไรก็ตามหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ได้ให้ความสนใจกับการผลิต “พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ” มาทดแทนน้ำมัน โดยคาดการณ์ว่าเชื้อเพลิงชีวภาพจะถูกนำมาใช้ในภาคการขนส่ง และอุตสาหกรรมการบินมากขึ้น แต่จะเป็นเชื้อเพลงชีวภาพแบบดั้งเดิมน้อยลง และใช้เทคโนโลยีผลิตพลังงานชีวภาพขั้นสูง (Advanced Biofuel) เช่น เทคโนโลยีผลิตพลังงานจากเศษวัสดุทางเกษตร หรือของเสียจากอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ทดแทนมากขึ้นในอนาคต
สำหรับประเทศไทยพบว่ามีกำลังการผลิต (Supply) หลัก คือ ไบโอดีเซล และไบโอเอทานอลซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้มากกว่าความต้องการ (Demand) ทำให้ยังคงมีส่วนเกินในภาคการผลิต ซึ่งมองว่านี่คือโอกาสของประเทศที่สามารถรองรับสู่การผลิตสารเคมีชีวภาพมูลค่าสูงได้ ดังในสถานการณ์โควิด-19 ไบโอแอลกอฮอลล์นิยมถูกนำไปใช้ในการเจือจางเป็นเจลแอลกอฮอลล์ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อีกอันที่เป็นโอกาส คือ การผลิตสุรา แต่มีข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบที่ไม่สามารถผลิตแอลกอฮอลล์เพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้ และมีข้อเสนอให้ควรวางแผนการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อการขับเคลื่อนจากโมเดล BCG ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขยับตัวให้เร็วขึ้น สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการ เพื่อทำให้การวิจัยพัฒนาในเรื่องของพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้นอันนำไปสู่การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง คือ
• จัดการรวบรวมองค์ความรู้ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) ด้านพลังงานที่เคยศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาแล้วคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะกับชีวมวลของประเทศไทย
• สร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้รองรับการขยายขนาดจากงานวิจัยในห้องปฏิบัติการเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
• เพิ่มทักษะแรงงานและนักวิจัยของประเทศ ในทำการตลาด การคำนวณความคุ้มทุน โดยเร่งสร้างบุคลากรวิจัยทักษะสูงที่มีความเชี่ยวชาญจำเพาะเจาะจงในสารเคมีชีวภาพหรือเชื้อเพลิงนั้นๆ และอาจจำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดความร่วมมือแล้วเราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในประเทศ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เรา ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ในด้านพลังงานชีวภาพขึ้นมาใหม่จึงเป็นสิ่งที่ประเทศควรทำ
โดยการประชุมวันนี้ถือเป็นการหารือ โดยสกสว. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะสำคัญจากผู้เข้าร่วมไปสู่กระบวนการจัดการความรู้ และพัฒนาแผนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานต่อไป