เมื่อวันที่ 4 ส.ค.ผศ.ดร.ธวัชชัย อภิเดชกุล คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยสุขภาพชนชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หัวหน้าโครงการวิจัยเปิดเผยว่า ตนและทีมวิจัย ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดำเนินการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและประชาชนชาวเขาให้มีองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติ และความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งจากภายในประเทศและบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า กลุ่มเป้าหมายสำคัญในการอบรมเชิงปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 2. ผู้ช่วยเหลือคนไข้/พนักงานบริการคนไข้ และ 3.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)/สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.)/ผู้นำชุมชน รวมกว่า 1,125 คน ทั่วทั้งอำเภอแม่ฟ้าหลวง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ระดับประเทศ อาทิ นายแดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น การส่วมใส่ชุด PPE การทำ Swab เพื่อส่งตรวจเชื้อโควิด-19 การบริหารจัดการขยะติดเชื้อ การล้างมือและสวมใส่หน้ากากอนามัย จากวิทยากรที่ปฏิบัติงานจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค กรมควบคุมโรค และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังดำเนินการพัฒนาแผนปฏิบัติงานเพื่อควบคุม ป้องกัน และบริหารจัดการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เช่น แนวทางการคัดกรอง กักตัวระดับชุมชน การสื่อสารกับคนในชุมชน โดยคณาจารย์สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อพัฒนาและต่อยอดแผนการทำงานให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
ผศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน เมษายน จนถึง เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาได้จัดอบรมแก่กลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ช่วยเหลือคนไข้/พนักงานบริการคนไข้ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเป้าหมายต่างได้นำองค์ความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี และภายในเดือนสิงหาคมนี้จะจัดกิจกรรมในกลุ่มผู้นำชุมชน อสม. และ ส.อบต. เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด และช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพ ติดอาวุธด้านความรู้และทักษะที่เหมาะสมให้แก่ผู้ปฏิบัติทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่ อำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ใน จังหวัดเชียงราย ต่อไป
ด้านดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาของไทยพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ รวมถึงศึกษาวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ปัจจุบัน โครงการที่ วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัย มหาวิทยาลัยหลายแห่งสามารถผลิตนวัตกรรมทางการแพทย์ หรือเทคโนโลยีที่ช่วยในการปฏิบัติงาน และใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อตอบสนองการแก้ปัญหาของประเทศ เป็นการวางรากฐานงานวิจัยของไทยให้เกิดความเข้มแข็งในระยะยาว