วันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๗ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบหมายให้ รศ.นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ในโอกาสครบรอบ ๑ ปี พร้อมทั้งมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ สทน. ณ อาคารปฏิบัติการโทคาแมค สทน.สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงอว. พร้อมกับ ผู้บริหารกระทรวง และเจ้าหน้าที่สถาบัน ให้การต้อนรับ
สำหรับในวาระของการตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ รศ.นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรี อว.ในครั้งนี้ รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาเครื่องโทคาแมคในโอกาสครบรอบ 1 ปี ว่า เครื่องโทคาแมค Thailand Tokamak-1 หรือเครื่อง TT-1 เป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันของประเทศไทยซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการผลิตพลังงานสะอาดเพื่ออนาคต หลังจากพิธีเปิดในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการโทคาแมค และได้ทรงกดปุ่มเดินเครื่องครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์แล้วนั้น
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
(องค์การมหาชน)
ระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ทาง สทน. ร่วมกับเครือข่าย ได้เดินเครื่องโทคาแมค TT-1 ด้วยตัวเอง ในรอบ 1 ปี สามารถเดินเครื่องไปทั้งหมด 1,285 ครั้ง โดยมีผลการเดินเครื่องที่ดีที่สุด (Best Record) โดยสรุปดังนี้
1) กระแสพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้กระแสพลาสมาสูงสุดคือ 85.4 กิโลแอมแปร์ (สูงขึ้น 17% ของค่าปฐมฤกษ์)
2) อุณหภูมิพลาสมา สามารถเดินเครื่องได้อุณหภูมิสูงสุดคือ 545,000 องศาเซลเซียส (สูงขึ้น 45% ของค่าปฐมฤกษ์)
3) ระยะเวลาที่สามารถควบคุมพลาสมา สามารถทำได้สูงสุด 122.94 มิลลิวินาที (นานขึ้น 40% ของค่าปฐมฤกษ์)
4) ประสิทธิภาพของฟิวชัน (fusion triple product) เพิ่มขึ้นประมาณ 44 เท่า ของค่าปฐมฤกษ์
นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยในประเทศ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมจำนวน 25 หน่วยงาน จัดตั้งเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน หรือ Centor for Plasma and Nuclear Fusion Technology (CPaF) เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยและพัฒนาพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยี ฟิวชัน และร่วมกันพัฒนาห้องปฏิบัติการขั้นสูงด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน
และในปีที่ผ่านมามีการพัฒนาทางวิศวกรรมที่สำคัญ ซึ่งทีมนักวิจัยของ สทน. และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบวัดพลาสมาที่เรียกว่า “Langmuir Probe” หรือ LP ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาพฤติกรรมของพลาสมาที่บริเวณขอบ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างพลาสมาหลักกับผนังเครื่อง LP ทำหน้าที่เสมือน “เซ็นเซอร์อัจฉริยะ” ที่วัดอุณหภูมิและความหนาแน่นของพลาสมาที่บริเวณขอบได้อย่างแม่นยำแม้ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงมาก ระบบ LP ที่สร้างมีจำนวน 52 หัวที่แยกอิสระต่อกัน นั้นคือสามารถปรับแต่งรูปแบบการวัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการทดลองในแต่ละครั้งได้ การพัฒนา LP โดยทีมนักวิจัยไทยนี้ไม่เพียงช่วยประหยัดงบประมาณ แต่ยังสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับวงการวิทยาศาสตร์ไทย เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานฟิวชันของประเทศ การพัฒนา LP สำหรับเครื่องโทคาแมค TT-1 นี้ เป็นโมเดลที่สร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงโดยฝีมือคนไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประเทศไทย ความร่วมมือระหว่าง สทน. และมหาวิทยาลัยในเครือข่าย CPaF แสดงให้เห็นถึงพลังของการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในอนาคต
รศ.นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม
ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม
ในโอกาสนี้ รศ.นายแพทย์ สรนิต ศิลธรรม ประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้ สทน. การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้แก่ การเทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ขอใช้งานวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีเพื่อส่งเสริม SME และอุตสาหกรรมในแขนงต่างๆ / upscale จาก lab scale สู่ commercial scale เข้าถึงและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้มากขึ้น เร่งยกระดับยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิศวกรรมเนื่องจาก สทน. มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากมายที่ต้องอาศัยวิศวกรรม ประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนางานด้านวิศวกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยและกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยเปลี่ยนบทบาท “จากผู้ซื้อเป็นผู้สร้าง” ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ประหยัดเงินที่จะต้องใช้นำเข้าเทคโนโลยี หากเราไปถึงจุดนั้นได้ประเทศเราเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน ดำเนินการโครงการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อเตรียมการไปสู่การมีโรงไฟฟ้าฟิวชันในอนาคต
นอกจากนั้นท่านประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม รัฐมนตรี อว.ยังเห็นว่า สทน.ควรมีบทบาทในระดับ นานาชาติ โดยเรื่องที่ สทน.มีความเชี่ยวชาญ คือ เรื่องอาหาร ซี่งกระแสของโลกเราในทุกวันนี้ คือ เรื่อง อาหารปลอดภัย และความยั่งด้านอาหาร (Food security & food sustainability) สทน. ในฐานะที่ทำงานวิจัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีในด้านอาหารและการเกษตร สทน.ควรนำผลงานวิจัยและงานบริการมาช่วยสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย เพิ่มคุณภาพสินค้าทางการเกษตรให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น นอกจากจะเป็นการช่วยส่งเสริมเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสุดท้ายคือปัญหาโลกร้อน ถือเป็น Global Issue สทน. ต้องมีนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนได้ในปี 2050 ให้ไทยเป็นประเทศ Net zero และ carbon neutrality ได้โดยสมบูรณ์
ท่านประธานคณะที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม ยืนยันว่า กระทรวง อว. และ สทน. พร้อมที่จะทำงานและนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกด้านเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์และผู้ขอรับบริการทุกกลุ่ม เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ สทน.ได้จัดแสดงผลงานที่สำคัญอีกด้านวิศวกรรมและนวัตกรรม ที่นักวิจัยของ สทน. จากโดยศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และศูนย์วิศวกรรมนิวเคลียร์ ได้พัฒนาขึ้นมา อาทิ เป็นการออกแบบทางวิศวกรรมโดยนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี โดยใช้รังสีในการตรวจสภาพความสมบูรณ์ และหาความผิดปกติของโครงสร้างภายในหอกลั่นและสภาวะการผลิตภายในหอกลั่น โดยไม่สร้างความเสียหายให้เกิดกับชิ้นงาน การพัฒนาเครื่องวัดรังสี และเครื่องสำรวจรังสีเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ นอกจากกนี้ยังจัดแสดงผลงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ อาทิ การผลิตแผ่นไฮโดรเจล ด้วยกระบวนการฉายรังสี เพื่อใช้ในการบำรุงผิวในรูปของแผ่นปิดแผล หรือแผ่นมาส์กที่ให้ความชุ่มชื้นและบำรุงผิวหน้า การฉายรังสีอัญมณีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด 30 เท่า การพัฒนาผงไหมโปรตีนสูงด้วยรังสี ทำให้อนุภาคมีขนาดเล็ก สูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย โครงการอาหารพื้นถิ่นการพัฒนาคุณภาพอาหารในพื้นถิ่นต่างๆให้มีคุณภาพ สะอาดปราศจากเชื้อ และยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการฉายรังสี การผลิตกระถางต้นไม้ด้วยขุยมะพร้าวผสมไฮโดรเจลอุ้มน้ำ เพื่อใช้สำหรับการปลูกต้นไม้และสามารถประหยัดน้ำในการเพาะปลูก รวมทั้งบริการตรวจวิเคราะห์ความแท้ของน้ำผึ้งและน้ำมะพร้าวโดยใช้ไอโซโทปเสถียร เป็นต้น