วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ได้จัดแถลงข่าวนโยบายการดำเนินงาน สทน. เนื่องในโอกาสที่ รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เข้ารับตำแหน่งในวาระที่ 2 การแถลงข่าวจัดขึ้นที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อำเภอ องครักษ์ จังหวัด นครนายก
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
รศ.ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สทน. มุ่งมั่นขับเคลื่อนกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น สถาบันฯได้ดำเนินการแบบครบวงจร คือ การวิจัย การบริการ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์สู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โครงการสำคัญ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชัน ซึ่งจะกลายเป็นพลังงานสะอาดของโลกอนาคต หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” สถาบันได้ร่วมทำงานกับหลายภาคส่วนทั้ง มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคเอกชน ระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาต่าง ๆ มาต่อยอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติในอนาคตได้ และการยกระดับอาหารพื้นถิ่นฉายรังสีเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของอาหารพื้นถิ่น การให้ความรู้กับผู้ประกอบการทางภาคต่างๆ ของประเทศไทย ในการเผยแพร่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงได้ให้คำปรึกษาในการที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจทางด้านอาหารฉายรังสีให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย ด้านการบริการ สถาบันฯได้ดำเนินการในหลายรูปแบบทั้ง การผลิตสารไอโซโทปรังสีเพื่อตรวจและรักษาโรคมะเร็งโดยผ่านการให้บริการกับทางโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย และนอกจากนี้ สทน. ยังได้พัฒนางานบริการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเช่น การฉายรังสีสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก และการตรวจสอบสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับสรุปผลการดำเนินงานของ สทน. แบ่งออกเป็นสองด้านหลักๆ คือ งานด้านการให้บริการ และงานด้านการวิจัย แต่ละด้านมีผลการดำเนินงาน ดังนี้
ด้านการให้บริการ
1. รายได้ที่เกิดจากการให้บริการและผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีมูลค่าตามลำดับ ดังนี้ 147.18 ล้านบาท 149.77 ล้านบาท 175.51 ล้านบาท 178.07 ล้านบาท รวมรายได้ในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 650.3 ล้านบาท
2. มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีมูลค่าตามลำดับดังนี้ 1,573 ล้านบาท , 1,694 ล้านบาท , 1,926 ล้านบาท , 2,293 ล้านบาท รวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 7,486 ล้านบาท
3. จำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 3,534 ราย ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 4,590 ราย
4. จำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการฉายรังสี ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีดังนี้ 317 ราย , 401 ราย , 319 ราย และ 502 ราย รวมในรอบ 4 ปี มีจำนวนผู้ประกอบการที่รับบริการฉายรังสี ทั้งสิ้น 1,539 ราย
5. จำนวนผู้เข้าถึงการรักษาและวินิจฉัย ในช่วงปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีจำนวนผู้เข้าถึงตามลำดับ ดังนี้ ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 22,800 ราย และปี พ.ศ. 2566 มีจำนวนผู้เข้าถึง 42,000 ราย รวมผู้เข้าถึงการรักษาและวินิจฉัยในช่วง 2 ปี มีจำนวน 64,800 ราย
6. จำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสนับสนุน งานด้านอุตสาหกรรม ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีจำนวน ดังนี้ 549 ราย, 163 ราย , 1,575 ราย , 2,076 ราย รวมจำนวนคนที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในรอบ 4 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 4,363 ราย
ด้านการวิจัย
1. จำนวนการยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีผลงานการขึ้นทะเบียนตามลำดับ ดังนี้ 13 เรื่อง , 11 เรื่อง , 13 เรื่อง , และ 31 เรื่อง รวมผลงานที่จดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรในรอบ 4 ปี เป็นจำนวน 68 เรื่อง
2. ผลงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่ถูกนำไปใช้ในเรื่องการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ให้กับภาคการผลิต บริการ และการแพทย์และสาธารณสุข ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีจำนวนผลงานตามลำดับ ดังนี้ 14 เรื่อง , 13 เรื่อง , 12 เรื่อง และ 14 เรื่อง รวมผลงานที่มีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในรอบ 4 ปี มีจำนวน 53 เรื่อง
3. ผลงานการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2566 มีผลงานการตีพิมพ์ตามลำดับ ดังนี้ 23 เรื่อง , 39 เรื่อง , 62 เรื่อง , และ 63 เรื่อง รวมผลงาน ตีพิมพ์ในช่วง 4 ปี เป็นจำนวน 187 เรื่อง
ในส่วนของโครงการที่สำคัญๆ ที่ สทน.ดำเนินการช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566 มี 2 โครงการคือ 1. โครงการศูนย์ฉายรังสีอิเล็กตรอนบีม 2. โครงการเครื่องโทคาแมคเพื่อวิจัยเทคโนโลยีฟิวชัน
สำหรับแนวนโยบายในการปฏิบัติงานของ สทน. ในปี 2567- 2570 สทน. เน้นเป้าหมายสำคัญใน 3 ด้าน คือ
เป้าหมายที่ 1 การนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไปสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ SMEs เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร เช่น การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ “ฉายรังสีปลอดภัย อาหารพื้นถิ่นปลอดโรค” การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม
เป้าหมายที่ 2 การยกระดับงานวิศวกรรม เน้นการพัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยี ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือทางนิวเคลียร์ได้ โดยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น ระบบการตรวจสอบท่อใต้น้ำ ระบบวัดคุณสมบัติของพลาสมา การพัฒนาอุปกรณ์วัดรังสี และโครงการอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการ
เป้าหมายที่ 3 การเปลี่ยนผ่านงานสู่ระบบดิจิทัล การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และประเมิน เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน และการให้บริการ มีกิจกรรมที่สำคัญ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือ ระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการบริการ การพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และทักษะด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ และการปรับปรุงการบริหารจัดการและกระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภายในองค์กร