จากกรณีที่เกิดเหตุการณ์เด็กผู้หญิงอายุ 6 ปี ประสบอุบัติเหตุจนแขนซ้ายขาดจากการที่เสื้อที่แม่คลุมให้ระหว่างซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มีจนาดใหญ่เกินตัวจนเสื้อเข้าไปติดในซี่ล้อและลากเอาตัวน้องตกจากรถ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเร็วๆนี้ พ.ญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย เปิดเผยว่า อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ที่ประเทสไทยครองแชมป์สูงที่สุดในโลก มิได้จำกัดอยู่เพียงกลุ่มอายุ 15-24 ปี แต่ได้เข้าไปถึงกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 0-4 ปี ด้วยโดยส่วนใหญ่เด็กจะเป็นผู้โดยสารทั้งซ้อนท้าย นั่งด้านหน้า นั่งในตะกร้า หรือพ่อแม่อุ้มแล้วโดยสารรถจักรยานยนต์ ซึ่งจากข่าวเด็กหญิงอายุ 6 ปีที่กาญจนบุรี เห็นแล้วรู้สึกตกใจมาก แม้จะเป็นเพียงข่าวอุบัติเหตุเล็กๆในต่างจังหวัดก็จริง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกถึงแก่นแท้ของปัญหาจะพบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่อยู่กับสังคมไทยมานาน
“เสียงของเด็กที่ตะโกนบอกแม่ว่า “แขนหนูหาย” และไปพบแขนอยู่ในเสื้อคลุมของแม่ที่ติดอยู่ในล้อรถ เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก และยิ่งเศร้าไปกว่านั้น เมื่อถามหาสิทธิในการรักษาพยาบาลของเด็ก โดยเฉพาะสิทธิจากพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ปรากฏว่า รถที่เกิดอุบัติเหตุไม่มีพ.ร.บ.”อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บอกและว่า อุบัติเหตุครั้งนี้อาจจะไม่ใช่รายแรก แต่ขอให้เป็นรายสุดท้าย ที่ผ่านมามีเด็กจำนวนมากที่แขน ขา เข้าไปติดในซี่ล้อ จนกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต ไม่รวมจำนวนเด็กทีได้รับบาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว ประมาณ 40,000 คนต่อปี
พ.ญ.ชไมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ในต่างประเทศการออกแบบรถจักรยานยนต์ให้มีความปลอดภัยจากการติดเข้าไปในซี่ล้อ จะออกแบบโดยการมีที่ครอบกันเข้าซี่ล้ออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าสามารถลดความเสี่ยงนี้ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เด็กไทยได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าว ควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุสำหรับกันอวัยวะที่มักเป็นเหตุให้บาดเจ็บบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ขา แขน เท้าหรือส้นเท้า เข้าซี่ล้อ ควรหาแผ่นโลหะหรือพลาสติกไว้สำหรับกันเท้าหรือส้นเท้าเข้าไปในซี่ล้อรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และที่วางเท้า ในส่วนของที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กบนรถจักรยานยนต์ ควรมีเข็มขัดรัดตัวเด็ก รวมทั้งสวมหมวกนิรภัยให้เด็กทุกครั้ง หากต้องอุ้มเด็กซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ผู้ปกครองควรแต่งกายให้เด็กแบบไม่รุ่มร่าม รัดกุม มั่นใจว่าไม่มีชายผ้าอ้อม ชายเสื้อ ชายกางเกงห้อยหลุดเข้าไปติดกับโซ่ล้อรถขณะที่รถวิ่งอย่างเด็ดขาด
อดีตที่ปรึกษาประจำองค์การอนามัยโลก ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บอกว่า ผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ควรมีใบเตือนอันตรายและวิธีป้องกันอันตรายในคู่มือการใช้รถ โดยเฉพาะเรื่องการบาดเจ็บจากเท้าเข้าไปในซี่ล้อในเด็ก ควรมีความรับผิดชอบในการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยควบคู่กันไป เช่น แผ่นกันเท้าเข้าซี่ล้อ ที่นั่งกันแขน ขา เข้าซี่ล้อ ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก หมวกนิรภัย สำหรับเด็กตามอายุ ฯลฯ และอาจต้องเอาความรู้ใหม่ๆในการใช้รถจักรยานยนต์แทรกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ของเด็ก เช่น เรื่อง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย การเคารพกฎจราจร รวมทั้งบริบทความปลอดภัยที่น้อยลงจากการเกิดอาชีพใหม่ๆที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เช่น ไรเดอร์ เป็นต้น.