วช.หนุนงานวิจัย มจธ.ใช้พืชยืนต้นลดฝุ่น PM 2.5 เสริมสร้างคุณภาพที่ดีในอากาศ 

มลพิษในอากาศทุกวันนี้ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ ปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวเนื่องมาจากระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคปอด ภูมิแพ้ และหอบหืด รวมทั้งสารระเหยหลายชนิดยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง มีงานวิจัยและนวัตกรรมหลายชิ้นงาน ที่เข้ามาช่วยป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองเหล่านี้ รวมไปถึงงานวิจัยการใช้พืชยืนต้นเพื่อบำบัดฝุ่นละอองในอากาศอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินการโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ( มจธ. ) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) และได้นำมาจัดแสดงในมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระหว่างวันที่ 1-5 สิงหาคมที่ผ่านมา

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง สร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เสริมคุณภาพทางสังคม สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีเหตุปัจจัยมาจากหลายสาเหตุ ซึ่งทาง วช. ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยได้นำเสนองานวิจัยการใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร

รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้สะสมองค์ความรู้ในการทดลองวิจัยในเรื่องนี้มาร่วม 10 ปี ร่วมกับ รศ.ดร.กัญจน์ ศิลป์ประสิทธิ์ จากสาขาสิ่งแวดล้อม คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยแบ่งการศึกษาวิจัยเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกมีการคัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทย ซึ่งภาพรวมจะมีอากาศร้อนไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้พืชเมืองหนาว ส่วนที่สองคือการศึกษากลไกการตอบสนองของต้นไม้ต่อฝุ่น ลักษณะทางกายภาพของต้นไม้เช่น ลักษณะใบ ขนาดของใบ ที่มีส่วนในการส่งเสริมการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และการศึกษาการเปลี่ยนของโปรตีนเนื่องจากความเครียดของต้นไม้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 ผ่านเทคโนโลยีชีวสารสนเทศ พบว่าต้นไม้มีการสร้างโปรตีนช่วยลดความเครียดเพิ่มขึ้น มีการสังเคราะห์ด้วยแสงลดลง และส่วนที่สามเป็นการจำลองรูปแบบการจัดวางต้นไม้เพื่อศึกษาความสามารถในการดักจับฝุ่นของต้นไม้ให้ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

ผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่าต้นไม้ที่มีขนาดใบเล็ก จำนวนใบมาก มีใบขรุขระ มีเส้นใบและขนใบมากจะช่วยในการดักจับฝุ่นได้ดี อาทิ ต้นโมก กัลปพฤกษ์ พะยุง นีออน จามจุรี หมากเหลือง ทรงบาดาล แก้ว และอินทนิล เป็นต้น โดยองค์ประกอบทางกายภาพของพืชที่ส่งผลต่อการจับฝุ่นที่ใบได้แก่ ลักษณะใบ รูปร่างใบ พื้นผิวใบ ขนใบ ปากใบ และชั้นแวกส์ พืชมีการตอบสนองต่อฝุ่น โดยพยายามสะสมน้ำภายในต้น มีการปิดปากใบ และลดอัตราการสังเคราะห์ด้วยแสงนอกจากนี้ยังพบว่าการจัดวางต้นไม้ใหญ่และต้นไม้พุ่มเป็น 2 ชั้นที่ห่างกันอย่างเหมาะสมจะช่วยดักจับฝุ่นละอองได้มากกว่าร้อยละ 60 อีกด้วย ซึ่งผลการวิจัยสามารถนำไปขยายผลต่อยอดเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชนทั่วไป เผยแพร่ในแวดวงวิชาการและส่งเสริมเกษตรกรในการคัดเลือกพันธุ์ไม้เพื่อการค้าได้อย่างเหมาะสม รวมถึงพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านฝุ่นละอองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *