ETDA จัดดวลไอเดียธุรกิจ “Craft Idea” ทีมThis heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน 

​ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวถึงการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ว่า กระทรวงดิจิทัลมีบทบาทในการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางออนไลน์ และอีคอมเมิร์ซ ช่วงที่ผ่านมาคนทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้น การปรับตัวก็ต้องปรับไปตามสถานการณ์โควิด คนในชุมชนอาจจะมีข้อจำกัดอยู่เยอะเนื่องจากการเข้าถึงเทคโนโลยี ขาดความรู้ความเข้าใจไม่มากเหมือนผู้ใหญ่ เราเลยคิดว่าเราควรทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ให้เค้าเข้ามาเรียนรู้ข้อมูล ทักษะ ความสามารถ และนำเอาตรงนี้ไปช่วยคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนสามารถทำอีคอมเมิร์ซได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้เราคิดโมเดลนี้ เพราะว่าถ้าเราไปทำงานกับชุมชนโดยตรง คนของเราก็น้อยไม่พอ การที่จะทำความเข้าใจกับชุมชน มีช่องว่างค่อนข้างสูง การเอาตัวคนรุ่นใหม่มาช่วยจะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น และขยายตัวไปได้เร็วขึ้นครับ

วันนี้ ( 26 ก.ค.2565 )สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) ในกิจกรรม “Craft Idea” สร้างสรรค์ธุรกิจออนไลน์ สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน ณ ชั้น 6 ห้องออดิทอเรียม ทรูดิจิทัล พาร์ค เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ดวลไอเดีย เฟ้นหาสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ พาสินค้า บริการชุมชนสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยทีมThis heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) จากภาคใต้คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดโมเดลธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รองลงมาคือทีม DO PRO จากภาคใต้ และทีม Poison angels จากภาคอีสาน

​ผู้อำนวยการเอ็ตด้า ยังกล่าวต่อว่า ปีนี้นับเป็นปีที่สอง ที่ได้มีการจัดการแข่งขัน ตนยอมรับว่าน้องๆ ทุกทีมมีผลงานที่น่าสนใจมาก เพราะส่วนใหญ่เอาผลิตภัณฑ์เป็นตัวตั้งต้น เอาโจทย์ของผู้บริโภคมาแมทซ์กัน เอาออนดีมานด์ กับ ออนซัพพลายมาแมทซ์กัน มีโค้ชเข้ามาดูในเรื่องของมาร์เก็ตติ้งให้ว่าข้อมูลของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เราสามารถเอาข้อมูลตรงนั้นมาดีไซน์มาร์เก็ตติ้งแคมเปญยังไงให้โปรดักซ์มันตอบโจทย์ และมีช่องทางในการสื่อสารอย่างไรให้ผู้บริโภครับรู้ การทำงานตรงนี้เป็นการทำงานจากซัพพลาย ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานที่เป็นพันธกิจของเราในการส่งเสริมต่อยอดซึ่งกันและกัน

สำหรับเกณฑ์การตัดสินในครั้งนี้มีอย่างไรบ้างนั้น ดร.ชัยชนะ กล่าวว่า คณะกรรมการต้องดูเรื่องของ Innovation มีบิซิเนสโมเดลอะไรในการตอบโจทย์ การอินปรู๊ฟโปรดักซ์ สินค้าบางตัวเราเห็นเราอาจไม่อยากซื้ออยากจับ แต่พอมันเข้าสู่กระบวนการคิดวิเคราะห์ และปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์แล้วจะทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นน่าสนใจมากขึ้น หรือไม่ใช่ว่าพอหมดเงินซัพพอร์ทแล้วไม่สามารถเดินต่อไปได้ เราให้ความสำคัญกับการทำงานที่มันสามารถเอาไปต่อยอดได้ เรามีความคาดหวังว่า มันเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาสามารถคิดอะไรใหม่ๆหรือเป็นโมเดลใหม่ๆได้ เราคาดหวังให้ตรงนี้ต่อยอดได้ทั้งในเชิงของพาณิชย์และทั้งในแง่ของการเรียน เขาอาจจะอยากเรียนรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้แล้วนำไปต่อยอดจนถึงไปทำธุรกิจขึ้นมา เราหวังไว้เป็นแบบนั้น

“นอกจากนี้เรายังหวังว่าเขาจะสามารถเอาความรู้ตรงนี้เข้าไปในชุมชนที่เขาทำงานด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าเกิดเขารู้จักกับคนในชุมชนอื่น บางทีอาจจะเกิดการบูรณาการในการทำงานกัน การทำมาร์เก็ตติ้ง ทำอะไรด้วยกันได้ ของบางอย่างแพคขายไปด้วยกันได้ เราหวังว่าการทำงานตรงนี้จะเกิดเป็นคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่ที่เอาไอเดีย เอาเทคโนโลยีไปช่วยชุมชนได้มากขึ้น” ดร.ชัยชนะกล่าว
ดร.ชัยชนะ ยังฝากถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สนใจอยากเข้ามาร่วมต่อยอดกับโครงการแข่งขันในครั้งนี้ว่า สำหรับนักธุรกิจที่สนใจรู้สึกชอบไอเดียบางอย่างของน้องๆที่มาร่วมแข่งขันทั้ง 11 ทีม ประสานงานผ่านมาทางเราได้เลย ทุกท่านสามารถที่จะมาพูดคุยกับน้องๆ มาร่วมลงทุนกับทีมน้องๆก็ได้ หรือเข้าไปลงทุนกับชุมชนก็ได้ เราจะช่วยประสานงานและต่อยอดธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ หรือบริษัทที่มีอยู่แล้วอาจจะกำลัง explore อยู่ว่าจะขยายอย่างไรดี ถ้าเกิดมีไอเดียอะไรติดต่อเข้ามาได้เลย”

หนึ่งในภารกิจที่ ETDA ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือการส่งเสริม สนับสนุน ให้คนไทยมีความสามารถในการทำธุรกรรมออนไลน์อย่างมีคุณภาพ เกิดการสร้างรายได้และโอกาสที่ดี ผ่านการให้ความรู้ และการพัฒนาทักษะ ในรูปแบบต่างๆ ครอบคลุมในทุกภาคส่วนทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการ ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และชุมชน จากสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตโดยใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือมากขึ้น ได้กลายเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ รวมถึงวิธีการทำงานของหลายๆ อุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนอย่างฉับพลัน หลายธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ในปัจจุบันโมเดลธุรกิจแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ที่จะพาธุรกิจให้อยู่รอด การมีโมเดลธุรกิจที่พาสินค้าและบริการไปโลดแล่นบนโลกออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าและบริการในชุมชนที่ต้องการแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงๆ เพื่อสร้างโอกาสและรายได้

ดังนั้น ETDA จึงเดินหน้าดำเนินโครงการ Business Pitching ผ่านกิจกรรม “Craft Idea” สร้างสรรค์ธุรกิจ ออนไลน์ สร้างรายได้ ชุมชนยั่งยืน เพื่อพัฒนาศักยภาพต่อยอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้รับการพัฒนาความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ และด้านที่เกี่ยวข้องเข้าสู่ระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Ecosystem) อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้งานจริง รวมไปถึงเปิดโอกาสให้มีเวทีแสดงความสามารถและมีโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าของชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสนับสนุนให้ชุมชนได้ใช้เครื่องมือดิจิทัลแพลตฟอร์มออนไลน์ในการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้มีการเริ่มเปิดรับสมัครทีมผู้เข้าแข่งขันจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีเกณฑ์การรับสมัครคือ แต่ละทีมจะต้องรวมกลุ่มกันไม่เกินทีมละ 3 คน ไม่จำกัดเพศ และสมาชิกในทีมจะต้องมีอายุระหว่าง 18-36 ปี ซึ่งตั้งแต่เปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ถึง 4 กรกฎาคม 2565 พบว่า คนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ร่วมสมัครแข่งขันถึง 96 ทีม ก่อนที่คณะกรรมการจะทำการพิจารณาคัดเลือกในรอบแรกกันอย่างเข้มข้น จนได้ 11 ทีมสุดท้าย ที่เข้ามาสู่การแข่งขันประลองไอเดียแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชนที่
ยั่งยืน ในรอบ Final Pitching ได้แก่

  1. ​ทีม Poison angels จากภาคอีสาน
  2. ​ทีม Beenefit จากภาคเหนือ
  3. ​ทีมเรื่องของตะกร้า จากภาคอีสาน
  4. ​ทีมกระถางต้นไม้จากเปลือกอ้อย จากภาคอีสาน
  5. ​ทีมแม่พริกขี้หนู จากภาคอีสาน
  6. ​ทีม The Pickled garlic จากภาคอีสาน
  7. ​ทีมหร่อยเฉย น้ำพริกกากไก่ จากภาคอีสาน
  8. ​ทีมกลุ่มน้ำพริกบ้านมาบมะค่า จากภาคอีสาน
  9. ทีม This heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) จากภาคใต้
  10. ทีมลูกอมกะทิสด จากภาคอีสาน
  11. ทีม DO PRO จากภาคใต้

ซึ่งช่วงวันที่ 19-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้ง 11 ทีมที่ผ่านเข้ารอบได้ผ่านการเข้าร่วม Workshop ทางออนไลน์ จากบรรดาเหล่ากูรู ผู้เชี่ยวชาญคนดังในวงการดิจิทัล ที่ยกทีมกันมาร่วมถ่ายทอดกลยุทธ์ทางด้านดิจิทัล เช่น ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มาถ่ายทอด “เทคนิคการทำตลาด ช่วยชุมชนให้โดนใจ” คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย แนะนำเทคนิค “ทำอย่างไรให้เข้าใจผู้บริโภคด้วยการใช้ Data Marketing” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อัญรินทร์ อมรอิสริยาชัย อาจารย์ด้านกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เทรนผู้เข้าแข่งขันเกี่ยวกับ “การเรียนรู้ช่องทางส่งเสริมการขายในยุคดิจิทัล” และคุณอานัส วัฒนวาทิน อาจารย์ด้าน Storytelling แห่ง Visual Training Plus เน้นเรื่อง “ศิลปะการเล่าเรื่องแบบกระชับ” พร้อมกับการให้คำปรึกษา สู่การพัฒนาแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของคนในชุมชนด้วย รอบ Final Pitching ​ในวันนี้จะเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้ายรอบตัดเชือก ที่เปิดโอกาสให้ทุกทีมได้นำเสนอผลงานแผนธุรกิจรวมถึงแนวคิดในการเลือกผลิตภัณฑ์ชุมชนมาเป็นต้นแบบของการสร้าง
สรรค์แผนธุรกิจ ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 ท่าน ได้แก่ คุณอัจฉริยา เจริญศักดิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), คุณรัชวุฒิ พิชยาพันธ์ CEO & CO-FOUNDER FIXZY แอปพลิเคชันจัดหาช่างเพื่อ ซ่อมแซมบ้าน, ดร.ณัฐพล ประดิษฐผลเลิศกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, อาจารย์กิตติศักดิ์ คุณาฤทธิพล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหาร
กิจการมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) และคุณอัจฉราพร หมุดระเด่น ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสถาบัน ADTE by ETDA ที่ให้เกียรติมาร่วมตัดสินในครั้งนี้ ทีมละไม่เกิน 10 นาที

โดยหลักเกณฑ์การตัดสินในรอบชิงชนะเลิศคณะกรรมการทั้ง5ท่านจะให้คะแนนจาก การนำเสนอ (Pitching), ความเป็นไปได้ของการทำการตลาด, การดำเนินการได้จริงของแผนงานรวมไปถึงการตอบโจทย์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ

บรรยากาศของการแข่งขันในปีนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เหล่าบรรดากูรูด้านดิจิทัลระดับเยาวชน จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้พกพาความมั่นใจ ในการนำเสนอผลงานของตัวเองกันอย่างเต็มที่ งัดอาวุธ กลยุทธ์ และสมองมาร่วมประลองความท้าทาย พรีเซนต์ผลงานของตัวเองกันอย่างเต็มร้อย ซึ่งทีมที่โดดเด่นเป็นน่าจับตามองอันดับต้นๆ ได้แก่ทีม This heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) ที่นำเสนอสินค้าชุมชนประเภทลูกหยีกวนในรูปแบบใหม่คือลูกหยีสูตรหวานน้อย(ใช้หญ้าหวาน)ที่มาพร้อมกับลีลาและความมั่นใจในการพรีเซ็นต์ที่ทำเอากรรมการตั้งใจฟังอย่างไม่ละสายตา และอีกหนึ่งทีมที่น่าจับตามองคือทีม DO PRO ทีมที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เจลฟื้นฟูสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ใช้สำหรับลดอาการคันและลดอาการอักเสบจากบริเวณผิวที่ได้รับความเสียหายจากเซลล์มะเร็ง ซึ่งแต่ละทีมต่างมุ่งหวังให้ผลงานของตัวเองเป็นที่ถูกใจของคณะกรรมการและสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองได้เป็นผลสำเร็จ และทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีม This heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) โดย นายธกร กำเหนิดผล ตัวแทนจากทีม เปิดใจว่า “ ดีใจมากครับ เพราะเราตั้งใจมาแข่งขัน ไม่ใช่มาเพื่อตัวเองแต่เรามาเพื่อชุมชนที่เขามีความตั้งใจพัฒนา ถ้าวันนี้เราได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท เราจะนำส่วนหนึ่งไปช่วยชุมชนอย่างแท้จริงครับ ในฐานะตัวแทนจากภาคใต้พวกเรามีความตั้งใจที่จะมาถ่ายทอดผลิตภัณฑ์ต่างๆของความเป็นปักษ์ใต้ครับ โดยเราเลือกลูกหยีของพัทลุงมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซเข้าแข่งขันในครั้งนี้ เพราะเราเห็นถึงความตั้งใจของผู้ประกอบการ ที่เขามีความตั้งใจจริงที่อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขา มีการรวบรวมข้อมูลและหาภาพวิดีโอส่งมาให้เรา หลังจากนั้นเมื่อเราได้เข้าไปช่วยพัฒนาให้เขาไปต่อยอดด้วยการขายออนไลน์ มันเกิดผลลัพธ์ที่มีการสั่งซื้อสินค้าเพจของเขาอย่างแท้จริง ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบัน สุดท้ายนี้ก็อยากฝากถึงน้องๆหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจอยากมาร่วมกันพัฒนาไอเดียต่างๆ อยากให้มาลองกันครับเพราะเวทีนี้เป็นเวทีที่ดีจริงๆครับ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เราได้นำเอาความรู้ที่มี ทักษาะต่างๆ ให้เราได้มาฝึกการ Pitching การนำเสนอต่างๆ เพื่อในอนาคตในการต่อยอดไอเดียความคิดของเราครับ”

ผลจากการตัดสินร่วมกันของคณะกรรมการทุกท่าน
• ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ สุดยอดโมเดลแผนธุรกิจอีคอมเมิร์ซชุมชน ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร คือ ทีมThis heart for The Community (หัวใจดวงนี้เพื่อชุมชน) จากจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร คือ ทีม DO PRO จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
• ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร คือ ทีม Poison angels จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
อีก 8 ทีมที่เหลือ ได้แก่ ทีม Beenefit จากภาคเหนือ,ทีมเรื่องของตะกร้า จากภาอีสาน,ทีมกระถางต้นไม้จากเปลือกอ้อย ภาคอีสาน,ทีมแม่พริกขี้หนู จากภาคอีสทีม The Pickled garlic จากภาคอีสาน,ทีมหร่อยเฉย น้ำพริกกากไก่ จากภาคอีสาน,ทีมกลุ่มน้ำพริกบ้านมาบมะค่า จากภาคอีสาน และทีมลูกอมกะทิสด จากภาคอีสาน ได้รับรางวัลชมเชย พร้อมใบประกาศนียบัตร

โดยกิจกรรมในปีนี้ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้สนใจจำนวนมาก รวมถึงได้รับความร่วมมือหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการร่วมจัดงานไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) รวมถึงความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 4 ภูมิภาคข้างต้น ซึ่ง ETDA เห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนไทยได้จริง โดยในปีต่อไป ETDA จึงวางแผนในการขยายโอกาสและการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องทุกปี

ติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของโครงการได้ที่ facebook.com/ETDA.Thailand หรือสอบถามเพื่มเติมได้ที่ etda.bizpitching@gmail.com

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.