เด็กไทยพร้อมลงสนามแข่งนานาชาติ โดยตัวแทนเยาวชนไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International School of Bangkok : SISB) และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School)กรุงเทพฯ ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน 1 ใน 2 ของประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน Formula 1 (F1) in Schools Challenge รอบ World Final ครั้งที่ 17 ร่วมกับทีมเยาวชนนานาชาติ 40 ทีมจาก 26 ประเทศ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ณ เมืองซิลเวอร์สโตน นอร์แธมป์ตันเชอร์ ประเทศอังกฤษ
การแข่งขัน F1 in Schools Challenge รอบ World Finals จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงาน “F1 in Schools Challenge” ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับเยาวชนอายุระหว่าง9-19ปีเน้นการเเข่งขันการออกแบบและประดิษฐ์รถแข่งที่วิ่งเร็วที่สุดซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ ระหว่าง4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Mathematics : STEM)
การแข่งขัน F1 in Schools เริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ. 1999โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนนักประดิษฐ์ทั่วโลกที่สนใจงานด้านวิศวกรรมได้แสดงความสามารถและทักษะฝีมือในการประดิษฐ์ ออกแบบและผลิต รถแข่งขนาดเล็กหรือ F1 ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องออกแบบและผลิต โดยใช้เครื่องมือการออกแบบ CAD/CAM และขับเคลื่อนโดยใช้CO2ที่บังคับโดยระบบคอมพิวเตอร์ รถแข่งจะต้องปฏิบัติตามกฏข้อบังคับ ซึ่งรถจะวิ่งบนแทร็กยาว 20 เมตร ผ่านอุโมงค์ลม ที่ผู้เข้าแข่งต้องใช้ทักษะการคำนวณพลศาสตร์ของไหล (CFD) เพื่อจำลองแรงต้านของอากาศ การแข่งขันจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จากสถิติการแข่งขันที่ผ่านมา เมื่อปี ค.ศ. 2021 ทีมผู้ชนะจากประเทศออสเตรเลีย สามารถประดิษฐ์รถแข่งทำเวลาได้เร็วที่สุด 0.916 วินาที โดยทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สำหรับตัวแทนนักเรียนจากประเทศไทย1ใน2ทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อทีม “กินนรี เรสซิ่ง “ (Kinnaree Racing) มีสมาชิกรวม 5 คน ได้แก่ ทีมกินนรี เรสซิ่ง จากซ้ายไปขวา:
จิรัชย์ พัวพงษ์พัน , โทนี่ แสงสุพรรณ, วรินทร์ เพชรชำลิ, ปัทเมณี จินะดิษฐ์, รวิพัชร์ รอดโพธิ์ทอง
สมาชิกในทีมกินนรี เรสซิง กล่าวถึงความรู้สึกในการได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันว่า “ทีมงานทุกคนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่ท้าทายมาก พวกเราสัญญาว่าจะทำให้ดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กไทยก็ไม่ได้เป็นสองรองใคร”
นางสาว รวิพัชร์ รอดโพธิ์ทอง 1ใน 2 สาวเก่งของทีม กล่าวว่า ได้ตัดสินใจเข้าร่วมทีมกินรี เรสซิงเพราะเป็นการแข่งขันที่น่าสนใจจริงๆ และส่วนตัวสนใจเรื่องรถยนต์ ด้านศิลปะ การออกแบบกราฟิกจึงเป็นกระบวนการที่สนุก ซึ่งได้มีการเตรียมตัวโดย เข้าเรียนหลักสูตร F1 ในโรงเรียนของประเทศไทย เพื่อเตรียมสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้สามารถออกแบบและทำงานได้ดีขึ้น พร้อมคาดหวังว่า จะทำงานทันเวลาและสามารถคว้ารางวัลกลับมาได้ เนื่องจากทีมมีการประสานความร่วมมือกันได้ดีพอสมควร โดยเธอรับหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์และการขายสินค้าและเป็นผู้ดูแลสื่อโซเชียล
ด้านนางสาว ปัทเมณี จินะดิษฐ์ กล่าวว่า เธอตัดสินใจร่วมทีมกินรี เรสซิง ด้วยมองว่า จะได้รับประสบการณ์ที่นอกเหนือจากการศึกษา ขณะเดียวกันตนยังมีคุณลักษณะที่เหมาะกับโครงการนี้ ซึ่งต้องใช้คนมีเหตุผล มีความละเอียดรอบคอบและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงาน อย่างไรก็ดีสิ่งที่ท้าทายคือ จะต้องบริหารจัดการเวลา ตีโจทย์ให้แตก และโครงการนี้ต้องใช้ความทุ่มเทอย่างมาก เธอเริ่มต้นด้วยการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ในช่วงแรกๆ ของโครงการ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินและการตลาดที่เหมาะสมกว่า
นาย วรินทร์ เพชรชำลิ เปิดเผยถึงเหตุที่เข้ามาร่วมทีมกินรี เรสซิง เพราะต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น ประสบการณ์การแข่งรถและในด้านการผลิต โดยมองว่า ทีมงานสามารถออกแบบได้ดีและลดส่วนที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออกไป และพยายามใช้วัสดุที่มีน้ำหนักน้อยที่สุด คาดว่า ทีมน่าจะติด 1 ใน 10 อันแรกของโลกได้
ด้านนาย จิรัชย์ พัวพงษ์พัน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทีมกินรี เรสซิงกล่าวว่า จากความสนใจด้านรถยนต์และงานด้านวิศวกรรม F1 ประกอบกับเคยมีประสบการณ์ไปช่วยทีมไทยที่ไปเเข่งขันระดับโลกมาแล้ว 2 ครั้ง และหัดใช้เครื่องจักรมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบจึงไม่ได้เตรียมตัวหรือซักซ้อมมากเหมือนเพื่อน ๆ สำหรับความท้าทายในการแข่งขันครั้งนี้มองว่า อยู่ที่การพยายามรักษาการผลิตรถยนต์ให้ได้ตามกำหนด เพราะอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้มากมาย อย่างไรก็ดีทีมงานทำได้ดีในด้านการเงินและการตลาด และยังมีข้อได้เปรียบจากการมีทักษะใช้เครื่องจักรเพื่อการผลิต จึงคาดหวังว่า จะสามารถคว้ารางวัลมาอย่างแน่นอน
นายโทนี่ แสงสุพรรณ กล่าวว่า เขาตัดสินใจมาร่วมทีมเพราะสนใจงานด้านวิศวกรรมและคิดว่ามันเป็นความคิดที่ดีที่จะหาประสบการณ์ระหว่างทาง และยังเป็นการดีสำหรับจัดเก็บประวัติการทำงานกิจกรรมของตัวเอง โดยในทีมเขามีบทบาททำงานออกแบบรถผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ มีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้รถมีอากาศพลศาสตร์มากที่สุด ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน “การใช้ fusion 360 ต้องใช้เวลาและประสบการณ์มาก ผมใช้เวลามากกับการใช้งานและชินกับมัน เป้าหมายของผมคือการทำให้รถเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มั่นใจในประสิทธิภาพของทีมที่สามารถทำทุกอย่างได้ในเวลาอันสั้น และต้องการไปอยู่ใน 10 อันดับแรกสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้”
ด้าน”โรเบิร์ต ซาย ออร์ทิส”– ผู้บริหารหน่วยงาน F1 in Schools ในประเทศไทย เปิดเผยว่า F1 In schools มีมานานกว่า 22 ปี และมีต้นกำเนิดในสหราชอาณาจักร สำหรับ F1 in Schools เปิดตัวในประเทศไทยในปี 2017 (2560) โดยมีจุดประสงค์หลักในการแนะนำ S.T.E.M. Education ในรูปแบบที่สนุกสนานและมีส่วนร่วมสำหรับนักเรียน เนื่องจาก S.T.E.M.ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่รับรู้กันทั่วไป และF1 in Schools ทำให้นักเรียนสามารถสนุกไปกับการเรียนรู้ต่างๆ [แนวทางการศึกษาที่ได้บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆเช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความรู้ด้านคณิตศาสตร์ รวมเข้าด้วยกัน]
ทั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม F1 in Schools ทำหน้าที่เป็นโค้ช/ครูและผู้ใหญ่ดูแลการแข่งขันในต่างประเทศ เป้าหมายหลักคือ มุ่งเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการแข่งขัน เพื่อให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการแข่งขัน นักเรียนจะได้รับการสอนทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้ เช่น การออกแบบโดยใช้ Fusion 360 การวิเคราะห์ด้วยพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) การจัดการโครงการ และอื่นๆ “นักเรียนที่เข้าร่วม F1 in schools จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเรียนรู้อากาศพลศาสตร์ การผลิต CNC การพัฒนาการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (CAD) การผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (CAM) พลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) คณิตศาสตร์ฟิสิกส์ การพัฒนาเว็บ และการเขียนโปรแกรม ความท้าทายกระตุ้นให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ อากาศพลศาสตร์ การออกแบบ การผลิต การสร้างแบรนด์ กราฟิก การสนับสนุน การตลาด ขณะเดียวกันยังได้ทักษะความเป็นผู้นำ/การทำงานเป็นทีม ทักษะด้านสื่อ และกลยุทธ์ทางการเงิน จากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติจริง ได้สัมผัสวิถีแห่งจินตนาการ การแข่งขัน และน่าตื่นเต้น นอกจากนี้ข้อมูลประจำตัวจะช่วยให้นักศึกษาสามารถนำไปใช้กับมหาวิทยาลัยทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย สิ่งนี้จะเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับเส้นทางอาชีพในอนาคต ช่วยให้มีผลงานนอกหลักสูตรของพวกเขา ช่วยนักเรียนในการตัดสินใจเลือกเส้นทางอาชีพ โดย F1 ในโรงเรียนจะเตรียมนักเรียนให้พร้อมในทุกอาชีพในอนาคต ช่วยพัฒนาความมั่นใจ พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ รวมถึงทักษะการวิเคราะห์ การคิดอย่างมีเหตุมีผล ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาความมั่นใจในการรับผิดชอบต่อบทบาทและภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้เป็นส่วนหนึ่งของทีมแข่งขัน
สำหรับกินรีเรสซิงเป็นหนึ่งในทีมที่จะเข้าแข่งขันใน World Finals ปี 2022 เพียงแค่เข้าแข่งขันก็ถือว่าชนะเเล้วเพราะเป็น 1ใน 2 ทีม ที่จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการแข่งขันระดับโลก ขอแสดงความยินดีด้วย”