วช. เชิดชู รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 จากแนวคิด “เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต Blockchain ”

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2565 ครั้งที่ 8 เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 “รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์” แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนแนวคิด “เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต Blockchain ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. กิจกรรม “NRCT Talk นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ครั้งที่ 8” จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัยในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยในปีนี้ วช. ได้มอบรางวัลให้กับ รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2565 ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ฯ ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม ด้าน IT เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่โดดเด่นเป็นอย่างมากเพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม

รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์

รองศาสตราจารย์ ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ กล่าวว่า ในโลกยุคปัจจุบันที่การดำเนินงานต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้กับองค์กรในการพัฒนากระบวนการธุรกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน (Blockchain) และ IoT” บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการร่วมกับกลไกโดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบบล็อกเชนนั้น ไม่สามารถเปลี่ยนแก้ไขได้ ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีความโปร่งใสเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถสร้างระบบที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง และ IoT หรือ Internet of Things การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะสามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องป้อนข้อมูล สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนากระบวนการธุรกิจให้เป็นแบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย มีความเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น รวดเร็ว และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจนำไปสู่การขับเคลื่อนประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการบริการในอนาคต การต่อยอดความรู้ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี บล็อกเชนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน บริการทางการเงินและยังพัฒนาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามามีส่วนช่วยในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความสะดวกสบาย ปลอดภัย รวดเร็ว และลดต้นทุน รองรับกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ในโลกอนาคตก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนา สังคม เศรษฐกิจ ของประเทศต่อไป

ทั้งนี้สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ วช. เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ วช. ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.