(2 พฤษภาคม 2565) อาคารสำนักงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.): จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีการระบาดและแพร่กระจายเชื้อในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศซึ่งนอกจากต้องใช้งบประมาณสูง ยังพบปัญหาการใช้งานของเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ตอบโจทย์ของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตใช้เองในประเทศและมีคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีจุดเด่นที่สามารถออกแบบให้เป็นระบบสร้างความดันลบและห้องแยกผู้ป่วย สามารถปรับให้เหมาะสมกับรูปแบบความต้องการใช้งาน และขนาดพื้นที่ได้ โดยส่งมอบนวัตกรรม ไฮพีท (HI PETE) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ให้แก่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 โดยมี นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยทีมวิจัยร่วมส่งมอบครั้งนี้
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาระบบสุขภาพ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายสุขภาพบนพื้นฐานของความรู้เชิงประจักษ์ ตลอดจนผลักดันงานวิจัยระบบสุขภาพหลากหลายด้าน เพื่อมุ่งไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดย สวรส. ให้ความสำคัญกับการจัดสรรทุนวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และส่งผลต่อความยั่งยืนในระบบสุขภาพ รวมทั้งผลงานวิจัยยังสามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความยั่งยืนของระบบการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อลดค่าใช้จ่าย การประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบของงบประมาณ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันปัญหาโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สวรส. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริง เพื่อให้เกิดการต่อยอดและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาวิกฤติในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สวรส. จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ในการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตใช้เองในประเทศให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ ตลอดจนสนับสนุนการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอดเพื่อแก้ปัญหากรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญและมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งนวัตกรรม “HI PETE (ไฮพีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย” สามารถใช้ได้ที่บ้านหรือชุมชนที่มีพื้นที่จำกัด ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย หรือใช้ในศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนาม และมีการออกแบบให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเต็นท์ความดันลบ HI PETE ได้ผ่านการทดสอบทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่ง สวรส. มั่นใจว่านวัตกรรมงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ระดับจังหวัดทั่วประเทศ และสามารถช่วยแก้ปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อีกด้วย
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล
ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า สำหรับผลงาน HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย (Patient Isolation Chamber for Home Isolation) เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดยทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี กลุ่มวิจัยการออกแบบเชิงวิศวกรรมและการคำนวณ เอ็มเทค สวทช. ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้มาจากการพัฒนาเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแบบความดันลบ ที่มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า “PETE (พีท)” มาเป็นเต็นท์สำหรับแยกผู้ป่วยแบบ Home Isolation และเรียกสั้นๆ ว่า “HI PETE (ไฮ พีท)” โดยทีมวิจัยได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยสีเขียวที่จำเป็นต้องทำ Home Isolation ที่บ้าน แต่ไม่มีห้องแยกในที่อยู่อาศัย หรือใช้สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อแยกหรือกักผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ โดยมีจุดเด่นคือทำความสะอาดได้ง่าย สามารถปรับเลือกขนาดเต็นท์ได้เหมาะสมตามขนาดพื้นที่ห้องในที่อยู่อาศัย ต้นทุนต่ำ มีน้ำหนักเบาเคลื่อนย้ายง่าย สามารถย้ายไปติดตั้งใช้งานเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อชั่วคราว มีช่องหน้าต่างสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฏิบัติงาน ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากร โดยปัจจุบัน HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย มีทั้งหมด 3 รุ่น ได้แก่
- รุ่น COMPACT (คอมแพ็ค) เป็นรุ่นที่มีขนาดเล็กพกพาง่าย ติดตั้งได้รวดเร็ว เหมาะกับที่บ้าน หรือ
โรงพยาบาลสนาม - รุ่น BALLOON (บอลลูน) มีดีไซน์ที่คล้ายลูกโป่ง ที่สามารถติดตั้งได้รวดเร็วด้วยปั๊มลม เหมาะกับโรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วย
- รุ่น GRANDE (แกรนเด) เป็นรุ่นที่มีขนาดใหญ่ กว้างขวาง รองรับการติดตั้งเครื่องมือแพทย์ ตอบโจทย์การใช้งานในสถานพยาบาลที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยหนัก อาทิ แผนกฉุกเฉิน และหอผู้ป่วย
นวัตกรรม HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยทั้ง 3 รุ่น ได้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยระบบไฟฟ้าเครื่องมือแพทย์ ผ่านมาตรฐานการทดสอบความเข้ากันได้ทันแม่เหล็กไฟฟ้า และผ่านมาตรฐานห้องสะอาด ISO 14644 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการส่งมอบ HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ให้แก่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ และโรงพยาบาลเซนต์เมรี่ ทั้งหมดในวันนี้นอกจากเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ของการ “ปกป้อง” บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยแล้ว จะเป็นการร่วมมือกันศึกษาและปรับปรุงพัฒนานวัตกรรมเต็นท์ความดันลบให้ตอบโจทย์การใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพได้ต่อไป
ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ดร.ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับบทบาทของบริษัทกับการสนับสนุนงานวิจัยไทยนั้น ในฐานะภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนเตียงสนามและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบเข้าไปในเต็นท์เต็นท์ความดันลบ HI PETE (ไฮ พีท) โดยก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯ ได้ร่วมกับทางสาธารณสุขจังหวัดระยองที่ต้องการเตียงสนาม ซึ่งสามารถรับน้ำหนักมาตรฐานได้ถึง 250 กิโลกรัม จึงได้ส่งมอบเตียงทั้งหมด 2,000 เตียงทั่วประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ปตท. เพื่อให้ผู้ป่วยมีที่นอนในการแยกตัวเอง ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ อย่างไรก็ตามตลอดการระบาดของโรคโควิด-19 ทางบริษัทและพันธมิตรได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน บริจาคเตียงรวมทั้งหมด 7,000 เตียง รวมทั้งฟูก ผ้าปู หมอน ผ้าห่ม ซึ่งรู้สึกภูมิใจที่เป็นหนึ่งของภาคเอกชน ที่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์ใช้อย่างต่อเนื่อง “เตียงนี้สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อได้ และเป็นอีกนวัตกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่ง สวทช. และอีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป ช่วยกันผนึกกำลังช่วยเหลือประเทศไทยในภาวะวิกฤติโรคระบาด ลดการพึ่งการเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสำคัญที่สุดช่วยให้ประชาชนคนไทยได้รับการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม”
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.
นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นองค์กรวิจัยที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรม ขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ซึ่งในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สวทช. ได้ส่งมอบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยนวัตกรรมจากเทคโนโลยีของ สวทช. นี้พัฒนาขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทีมแพทย์ที่เป็นบุคลากรด่านหน้าที่สำคัญในการทำหน้าที่ดูแลรักษาชีวิตของผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก “งานวิจัยจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดผู้สนับสนุนและผู้นำไปใช้ประโยชน์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัย สวทช. ได้ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสาขาต่างๆ มาคิดและพัฒนาเป็นนวัตกรรมขึ้นมากมาย ซึ่ง HI PETE (ไฮ พีท) เต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วย ก็เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. และพร้อมส่งต่อให้กับโรงพยาบาลที่ต้องการนำไปใช้งานจริง ถือเป็นความสำเร็จและเป็นความมั่นคงทางการแพทย์ ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG”
ทั้งนี้ หากสถานพยาบาลหรือองค์กรใดที่มีความประสงค์ต้องการนำ HI PETE ไปใช้จริง และมีความพร้อมที่จะทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้งานร่วมกับทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. สามารถแจ้งความจำนงมาได้ที่อีเมล PETE@mtec.or.th (ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และ พรพิพัฒน์ อยู่สา) หรือ โทร. 02-564-6500