การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA ให้ความสำคัญกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกพื้นที่ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมและทัศนียภาพที่ดี รวมให้ความสำคัญกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงมีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือไมโครกริด ( Micro-grid) เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับผู้คนในพื้นที่ และเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นด้วย
PEA มุ่งมั่นพัฒนาต้นแบบไมโครกริดในพื้นที่นำร่องอย่างอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อลดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าในเขตพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุด และเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
สำหรับ ไมโครกริด (Microgrid) เป็นระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟแบบอิสระได้โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือ การทำงานโดยขนานกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าเดิม ประกอบด้วย โหลด ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และ ระบบควบคุม โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาแม่สะเรียง ใช้ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro-Grid) และติดตั้งระบบกักเก็บ พลังงานไฟฟ้า Battery Storage ชนิด Lithium ion พิกัด 3.0 MW / 1.5 MWh รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 3 MW ได้นานครึ่งชั่วโมง หรือจ่ายไฟได้เกือบครึ่งของอำเภอแม่สะเรียง เพื่อจ่ายไฟให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ระบบจ่ายไฟฟ้าแบบไมโครกริด (Microgrid) ยังเป็นการพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่ให้รองรับกับเทคโนโลยี Smart Grid ในอนาคต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการเพิ่มปริมาณพลังงานทดแทนตามนโยบายรัฐบาลและเป็นแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่อื่นต่อไป ซึ่งในปัจจุบัน PEA มีแผนดำเนินโครงการไมโครกริด (Microgrid) เพิ่มเติมอีก 2 แห่งด้วยกัน คือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และเกาะพะลวย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี