สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก กลุ่มอนุรักษ์ปะการังเกาะหมาก จังหวัดตราด ขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงาน “นวัตกรรมเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด
เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเป็นประธานการส่งมอบผลงานวิจัยและนวัตกรรม เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ให้แก่ชุมชนเกาะหมาก จังหวัดตราด โดยมีผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ ศูนย์ Low Carbon Learning Center ตำบลเกาะหมาก จังหวัดตราด
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ เชิงนโยบายสาธารณะ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กันต์ ปานประยูร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่เห็นเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้ประโยชน์ เป็นกลไกต้นแบบหนึ่งที่สำคัญ ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ โดยมีความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การสนับสนุน ดังเช่นในพื้นที่เกาะหมาก ที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือ
จึงเห็นควรร่วมกันที่จะผลักดันและกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะ ในการที่จะลดการสร้างมลภาวะและลดการสร้างผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ภายในพื้นที่เกาะหมาก เพื่อเข้าสู่รูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม จากการนำเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ที่ทาง วช. ได้ให้การสนับสนุนนำไปใช้งานจริง ซึ่งเป็นการสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืน รวมถึงเกิดการเผยแพร่องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ภายในพื้นที่ และยังเป็นต้นแบบความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่อื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการสู่ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าสูง ลดการใช้และหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ต่อไป