สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ปี 2563 (Thailand Research Expo 2020) ได้ทรงทอดพระเนตรการถวายรายงานนิทรรศการ “ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งด้วยอินฟราเรดแบบถังหมุน โดยมี ทีมวิจัยประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณ ยั่งยืน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา โดยในตอนหนึ่งได้มีพระราชดำรัสถามถึง เทคนิคการใช้รังสีอินฟราเรด เพื่อใช้ในการจัดการแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ ซึ่งหากทำได้น่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ลดปัญหาแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ได้
จากพระราชดำรัสในวันนั้น สู่การพัฒนาเทคโนโลยีจนสำเร็จแล้วในวันนี้ “เครื่องกำจัดแมลงศัตรูในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว” โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.จักรมาส เลาหวณิช เป็นหัวหน้าโครงการฯ เล่าว่า ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาต่อจากเทคนิคการใช้รังสีอินฟราเรดสำหรับเทคโนโลยีเครื่องอบแห้ง (ข้าวเปลือก) แบบถังหมุน มาสู่การใช้ในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมักพบว่ามีปัญหาเรื่องแมลงศัตรูในโรงเก็บที่ก่อให้เกิดความเสียหายในระหว่างการเก็บรักษา โดยการพัฒนาเครื่องนี้ใช้หลักการให้ความร้อนข้าวเปลือกด้วย “รังสีอินฟราเรด” ที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีคุณสมบัติสามารถจัดการได้ทั้งแมลงตัวเต็มวัยและไข่ที่ฝังอยู่ในเนื้อเมล็ดพันธุ์ ทำให้สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการผลิตในภาคเกษตรกรรมของประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนได้
“การจัดการเรื่องแมลงศัตรูในเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะมอดข้าว ที่ผ่านมาทั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์หรือผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ใช้กันอยู่จะเป็น หลักการของเครื่องอบแห้ง ซึ่งเงื่อนไขการทำงานจะต่างกัน ของอบแห้งเมล็ดพันธุ์จะใช้อุณหภูมิลมร้อนไม่เกิน 42 องศา อบจนกระทั่งแห้ง และใช้เวลาหลายสิบชั่วโมง เพราะว่าความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์จะหายไป แต่ปัญหาที่ยังอยู่คือจะพบทำไมมีมอดเกิดใหม่ได้อีก ซึ่งเป็นเพราะว่าตัวการสำคัญจริงๆ คือ “ไข่มอด” ที่ฝังอยู่ในเนื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีโอกาสรอดสูง สังเกตได้จากวงจรชีวิตทุก 45 วันจะมีมอดเกิดใหม่ขึ้นมาอีก สำหรับเทคนิคการใช้รังสีอินฟราเรด สิ่งที่เราค้นพบก็คือ เงื่อนที่เหมาะสม ว่าควรใช้ระดับอุณหภูมิอินฟราเรด อยู่ระหว่าง 550 องศาเซลเซียส และใช้เวลาให้ความร้อนข้าวเปลือกผ่านรางเขย่า 15 วินาที (แต่ไม่เกิน 20 วินาที) จะทำให้ข้าวเปลือกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 50 องศาเซลเซียส (หรือไม่เกิน 52 องศา) ในการทดสอบการจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่ให้มอดวางไข่ไว้ในตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ ไม่พบการเกิดใหม่ของมอดรุ่นลูกภายหลังจากจัดการด้วยเครื่องต้นแบบ”
นักวิจัยยังบอกด้วย การทดสอบต่อเนื่องมาถึงตอนนี้กว่า 8 เดือนแล้ว เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการจัดการแมลงศัตรูด้วยเทคนิคการใช้รังสีอินฟราเรดยังไม่พบการเกิดมอดอีก ส่วนในเรื่องคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ (เปอร์เซ็นต์การงอก) ก็มีการทดสอบควบคู่พบว่า ไม่มีความแตกต่างจากข้าวเปลือกที่เป็นเมล็ดพันธุ์อ้างอิงในการนำไปเพาะปลูก ความแข็งแรงก็ใกล้เคียงกัน และยังพบว่า การทนทานต่อโรค เช่น เชื้อรา และแมลงศัตรูอื่นๆ ก็ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อทดสอบการเพาะปลูกในพื้นที่ผลิตจริงร่วมกับทางหน่วยงานพันธมิตร เพื่อเก็บข้อมูลต่อไปด้วย
ทั้งนี้ เครื่องกำจัดแมลงศัตรูในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวต้นแบบ สามารถทำงานได้ 150-200 กก./ชั่วโมง เดินเครื่องต่อเนื่องได้ โดยเป็นเทคนิคอินฟราเรดที่ใช้พลังงานจาก แก๊สแอลพีจี คิดเป็นต้นทุนการผลิตสำหรับการจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวอยู่ที่ประมาณ 30 สตางค์/กก. ใช้ทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเครื่องนี้อยู่ที่ 250,000 บาท เป็นเทคโนโลยีพร้อมใช้ที่รอต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป
พบกับ “เครื่องกำจัดแมลงศัตรูในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ” และนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรจากงานวิจัยที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 (Thailand Research Expo 2021) วันนี้ -26 พฤศจิกายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องกำจัดแมลงศัตรูในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โทร.081-544-4408 นักวิจัย