ทางเลือก ทางรอด ท่องเที่ยวไทย โดย ธนชัย แสงจันทร์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากแล้ว ยังเป็นความสงสัยที่ชวนหาคำตอบว่า เราจะก้าวผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ และเป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดจัดทำเครื่องมือและกลไกการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการของภาครัฐ โดยความร่วมมือของหน่วยงานในศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (คปก.ศบค.) เชื่อมโยงระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่าง ๆ ในการเดินทางเข้าประเทศไทยในรูปแบบของเว็บท่า (Web Portal) ในชื่อ “Entry Thailand” ที่เป็นมากกว่าการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าอาณาจักรไทยในแบบเดิมที่ทำแบบแยกส่วน

“Entry Thailand” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรับมือของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ในกิจกรรมการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลและบริการของประเทศ ของ นายมงคล วิมลรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน เพื่อทบทวนและวิเคราะห์ผลการวิจัยของผู้อื่นที่เคยได้ทำวิจัย (และถูกตีพิมพ์) หรือที่เรียกว่า Literature Review เป็นข้อมูลฐานในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)

ในเรื่องนี้ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เล่าถึงแนวทางที่จะช่วยสร้างทางเลือกให้กับท่องเที่ยวไทย ผ่านแนวคิดในการพัฒนาระบบ Entry Thailand ว่าสืบเนื่องจากผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศ จะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งมีหลายขั้นตอน และขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ จนนำไปสู่ปัญหา ยกตัวอย่างเช่น
1.นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศจะต้องดำเนินการต่าง ๆ หลายขั้นตอนผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ Certificate of Entry: COE (ปัจจุบันมีการยกเลิก) การซื้อประกันสุขภาพ การจองตั๋วเครื่องบิน การจองที่พักสถานกักกันโรคทางเลือก ฯลฯ
2.ผู้ประกอบการที่พักสถานกักกันโรคทางเลือก การเกิดความสับสนและสูญเสียโอกาสจากการที่ผู้จองถูกยกเลิกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) หรือยกเลิกการเดินทาง โดยไม่แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า
3.การรายงานข้อมูลต่าง ๆ อาจเกิดความล่าช้า หรือสับสน เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับมาจากหลากหลายแหล่งและไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการเก็บรวบรวมข้อมูลและการเผยแพร่ ที่ทำให้เกิดความสับสน
แต่ “Entry Thailand” (www.entrythailand.go.th) จะสรุปขั้นตอนการขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศ พร้อมกับรวบรวมลิงก์เว็บไซต์และข้อมูลสำคัญ เชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาความสับสนที่กล่าวมาแล้ว เช่น ระบบการขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศ ระบบขายประกัน และระบบจองสถานที่กักตัวทางเลือก ASQ (Alternative State Quarantine) และ ALQ (Alternative Local Quarantine) รวมทั้งโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA+ (Safety and Health Administration Plus)
อีกทั้งระบบยังมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามมาตรการของรัฐบาล ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากผู้ต้องการเดินทางเข้าประเทศยกเลิกหรือถูกปฏิเสธการขอรับหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการเสนอขายที่พักให้กับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญ ข้อมูลทั้งหมด หากนำมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบ ใช้เป็นฐานข้อมูล และพัฒนาเป็น Big Data ที่ภาครัฐเองสามารถนำข้อมูลในระบบไปใช้ในการวิเคราะห์และจัดทำรายงานต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการในภาพรวมกับการเปิดประเทศระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ระบบทางเลือกที่นำไปสู่ทางรอด คือ การใช้ประโยชน์ที่ได้จากข้อสรุป ข้อติดขัด และจุดบกพร่องจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่อง Phuket Sandbox โดยเริ่มเปิดให้ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาที่จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ผ่านการลงทะเบียนในระบบ Entry Thailand  ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาใช้งานระบบกว่า 100,000 คน จากทั่วโลก และมีการจองสถานที่กักตัวทางเลือกกว่า 304 รายการจอง คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 11 ล้านบาท
และมีเงื่อนไขคือ ผู้เดินทางจะต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีน (Vaccine Certificate) ที่ประเทศไทยยอมรับแล้ว 2 เข็ม เป็นเวลา 14 วัน ก่อนการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่ประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 70 ได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากรัฐในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) เพื่อเรียกความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยวของทั่วโลก และหากโชคดีอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาที่ภูเก็ตได้ถึง 200,000 คน ซึ่งเป็นแนวทางที่ประกอบไปด้วยเหตุและผลในการส่งต่อระบบไปยังพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ หัวหิน ฯลฯ ที่ประชาชนในพื้นที่ฉีดวัคซีนได้ครบ 70% ตามเงื่อนไขการเปิดเมือง และเชื่อว่าคนในพื้นที่เองก็มีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และอยากเปิดรับนักท่องเที่ยวให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือบ้าง สำหรับการพัฒนาระบบการรับมือของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 พร้อมกับการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว นี้

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้มอบนโยบายให้ สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่จัดทำแผนด้าน ววน. ให้จัดทำแผนและกรอบงบประมาณ ที่จะสนับสนุนให้เกิดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว Sustainable Tourism Master Plan รวมถึงศาสตร์ที่ว่าด้วยการท่องเที่ยวทางมรดกและวัฒนธรรม ให้เป็นที่หนึ่งโดยการสร้างองค์ความรู้ ว่าด้วยศาสตร์และทฤษฎีการท่องเที่ยวไทย ลดการนำเข้าศาสตร์ที่ว่าด้วยการท่องเที่ยวของชาติตะวันตก
“แต่เราต้องอหังการที่จะผลิตศาสตร์ที่ว่าด้วยการท่องเที่ยวของเราส่งออกออกไปให้ ได้ เช่นเดียวกับประเทศที่เป็นชั้นนำในเรื่องการท่องเที่ยว ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลี รวมถึง เรื่อง Digital Transformation คือ การนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัลเข้ามาใช้ในการวางรากฐาน เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน สร้างความเข็มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก” คือคำกล่าวของ รมว.อว. ที่ทิ้งท้ายให้ สกสว. รับเป็นโจทย์ และกำหนดเป็นผลลัพธ์ ที่สร้างผลกระทบ ในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ไป

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.