วันนี้ (23 กันยายน 2564) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม “รมว.อว. พบนักวิจัย BCG กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงาน” โดยมีการนำเสนอ 6 ตัวอย่างผลงานวิจัยจากนักวิจัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย 1) Recycled Plastic Road Study จากขยะพลาสติกสู่ถนนสีเขียว 2) การยกระดับอุตสาหกรรม Biorefinery ของประเทศจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ 3) Circular Design
แนวทางการสร้างมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ 4) SCG Circular Product Innovation 5) สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน และ 6) การผลิต Green Hydrogen นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศ
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า กระบวนการทำงานวิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในรูปแบบเครือข่าย ทั้งภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคเอกชน โดยนักวิจัยต้องทำร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategice Partner) ซึ่งการเรียนรู้จากภาคเอกชนจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานเชิงกลยุทธ์ โดยการขับเคลื่อนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศนั้นในภาพรวมไม่สามารถทำได้ครบทุกเรื่อง เนื่องจากประเทศไทยมีทรัพยากรจำกัด ดังนั้นการลงทุนด้านการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมจำเป็นต้องมีจุดมุ่งเน้นในด้านที่ประเทศไทยให้ความสำคัญและมีโอกาสในการแข่งขันในระดับสากล อย่างเช่นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมในการจัดการทรัพยากร โดยการเร่งสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกระทรวงในการดำเนินงานขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กระทรวง อว. ได้สร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นประเทศรายได้สูงและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยที่ผ่านมา สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้อนุมัติแผนด้านการอุดมศึกษาฯ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยแผนทั้งสองด้านนั้นมีเป้าหมายที่ท้าทายร่วมกันคือการพาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2580
ทางด้าน ดร.จิตติ มังคละศิริ หัวหน้าหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน สกสว. ได้รายงานสถานการณ์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและพลังงานของประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกต่างมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตจาการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU : European Union) มีการตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP : Gross Domestic Product) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.5% ภายในปี พ.ศ.2573 ขณะที่ในประเทศไทยมีการประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งเป้าหมายมูลค่า GDP ของ Bio-Circular-Green Economy เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยมีข้อมูลระบุว่าเดิมในปี พ.ศ. 2561 มีมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสูงที่สุดในโลกปัจจุบันคือประเทศเยอรมันนี ซึ่งมีปัจจัยเอื้อหลายประการอย่างเช่น การออกกฎหมายให้ประชาชนแยกขยะ, เก็บค่าทิ้งขยะตามปริมาณ, กฎหมายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน, กฎหมายให้ผู้ผลิตรับผิดชอบขยะ และกฎหมายอื่น ๆ จากประเด็นดังกล่าวทำให้สามารถมองย้อนกลับมาในประเทศไทยที่ยังมีโอกาสในการพัฒนาเพื่อก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งสามารถแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักให้แก่สังคมช่วยผลักดันให้เกิดการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเป็นทางออกในการยกระดับการสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ การประชุมในวันนี้ยังได้มีการร่วมหารือแนวทางการทำงานในรูปแบบการเชื่อมโยงจากภาคนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ โดย สกสว. ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา BCG Model ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563-2565 ฉบับปรังปรุงปีงบประมาณ 2565 ในส่วนแพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ ที่ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญภายในปี พ.ศ. 2565 เกิดเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 100 ชิ้น เป็นกลไกสำคัญในการผลิตองค์ความรู้ สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป