วันที่ 24 มีนาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว. อุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน “เปิดประสบการณ์ความท้าทายครั้งใหม่ กับ TALARIA THAILAND ” โดยในงานมีพิธีเซ็นสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง บริษัท ทาลาเรีย อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัดกับ บริษัท ฉงชิ่ง เจียหลิง-เจียเผิง อินดัสทรี จำกัด (ประเทศจีน) เพื่อผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (E-Bike) โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหลายประเทศ เช่น จีน ลาว เมียนมา รวมถึงนางจีรนันท์วงษ์มงคล ประธานสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา งานจัดขึ้นที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รมว. อุตสาหกรรม
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีนโยบายสนับสนุน Green Productivity ตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน โดยการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน สนับสนุนภาคธุรกิจในการลดการปล่อยคาร์บอน
“การทำให้อากาศบริสุทธิ์ ไม่ใช่ภาระของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความร่วมมือของประชาชน ผู้ประกอบการ และรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม เราได้ส่งเสริมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อไปสู่การใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ดิฉันเชื่อมั่นว่าการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผนวกกับศักยภาพของประเทศไทย ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้มีการวางรากฐานการพัฒนามาโดยตลอด เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะสามารถกลับมาเป็น 1 ใน 10 ของฐานการผลิตยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งนอกจากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว ยังส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้กับคนรุ่นหลังอีกด้วย” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
นายหวัง ฟ่าน ประธานกรรมการ
และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทาลาเรีย พาวเวอร์ เทค
นายหวัง ฟ่าน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทาลาเรีย พาวเวอร์ เทค เมื่อ พ.ศ. 2563 กล่าวว่า ทาลาเรียมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปัจจุบัน ถือเป็น “ซิลิคอนวัลลีย์” แห่งการผลิต E-Bike ทาลาเรียเป็นแบรนด์ที่มีอายุน้อยแต่มีพลวัตสูง ได้รับการรับรองจากผู้ค้าและผู้ขับขี่ยานพาหนะทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ การร่วมมือกับบริษัท เอ็ม กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) ถือเป็นการตั้งฐานการผลิตนอกประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่ดูแลตลาดผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของทาลาเรียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ในอนาคต ฐานการผลิตใหม่ของทาลาเรียจะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับนวัตกรรมและความเป็นเลิศด้านการผลิต และเป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงาน การแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน พวกเรามีความคิดที่จะทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ สถาบันการศึกษา และองค์กรการวิจัย เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อนาคต” นายหวัง ฟาน กล่าว
นายลี่ ซื่อ หลิน
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาลาเรีย อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด
นายลี่ ซื่อ หลิน กล่าวว่าต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด รวมถึงมีมาตรการอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาไม่แพง ทาลาเรียประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2566 อยู่ในบางกอกฟรีเทรดโซนซึ่งได้รับเป็นเขตอุตสาหกรรมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม อีกไม่นานนี้ทาลาเรียจะมีศูนย์จำหน่ายและบริการ 300 แห่งทั่วกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถส่งผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในระยะเวลา 10 – 15 วันเท่านั้น
“ทาลาเรียมีการวิจัยและพัฒนาโดยผสมผสานเทคโนโลยีจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ทันสมัยที่สุดเข้ากับกระบวนการผลิตที่ทันสมัยที่สุดจึงได้อีไบค์ที่มีน้ำหนักเบา สมรรถนะสูง ความคล่องตัวสูง และเร้าใจในทุกพื้นผิวการขับขี่ โดยอีไบค์ที่ได้พัฒนาออกมาใหม่ล่าสุดมี 2 รุ่นใหญ่ๆ ได้แก่ Sting และ xXx ซึ่งทั้ง Sting และ xXx จะมีรุ่นย่อยลงไปอีกหลายรุ่น ทั้งหมดผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO9001 มาตรฐาน CE และ E-mark ของยุโรป รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย UL ของสหรัฐอเมริกา” นายลี่ ซื่อ หลิน ระบุ
นายเกอ ฟง ประธานกรรมการ
บริษัท ฉงชิ่ง เจียหลิง-เจียเผิง อินดัสทรี จำกัด (ประเทศจีน)
นายเกอ ฟง กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้ทุ่มเทให้กับการค้นคว้าวิจัย พัฒนา และผลิตรถจักรยานยนต์ที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก เราพร้อมแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานร่วมกับบริษัทที่มีฐานการตลาดในประเทศจีนรวมถึงทั่วโลก การร่วมมือกันสามารถเกิดขึ้นได้เพราะการพัฒนาร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด ทำให้เกิดโครงการความร่วมมือเชิงลึกมากมาย และเกิดพันธมิตรความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในที่สุด
นางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
นางสาวภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ ซึ่งได้ร่วมลงทุนและเป็นหนึ่งในกรรมการบริหาร บริษัท ทาลาเรีย อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอ็มกรุ๊ปทำธุรกิจโดยยึดโมเดลเศรษฐกิจ BCG นั่นคือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จึงได้ลงทุนในการทำธุรกิจยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาดกับบริษัททาลาเรียของจีน เพราะเทคโนโลยี EV ของจีนนั้นเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ในส่วนของ E-Bike หรือจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้นในประเทศไทยมีให้เห็นตามท้องถนนบ้างแล้วแต่จักรยานยนต์ประเภทออฟโร้ดที่มีน้ำหนักเบานั้นยังแทบไม่มี และทาลาเรียที่ส่งออกจักรยานยนต์ไฟฟ้าประเภทนี้ไปทั่วโลกคือคำตอบที่ลงตัวที่สุดในการร่วมลงทุน
“เราต้องการเป็นผู้นำในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ขับขี่ชาวไทยหันมาใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้ากันให้มากขึ้น เพื่อคุณภาพของสุขภาพร่างกาย เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม” นางสาวภิญญ์ชยุตม์ กล่าว และเสริมว่าเอ็มกรุ๊ปยังมีบริษัทเกี่ยวกับจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อการเกษตรและบริษัทเกี่ยวกับการกำจัดของเสียและแปรรูปสิ่งของเหลือใช้เพื่อส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วด้วย
สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของทาลาเรียประเทศจีน ในพ.ศ. 2566 มียอดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา 13,542 คัน แคนาดา 10,732 คัน อิตาลี 9,785 คันเยอรมนี 9,468คัน ฝรั่งเศส 8,704คัน สหราชอาณาจักร 8,594 คัน และประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ 3,632 คัน ตะวันออกกลาง 431 คัน แอฟริกาตะวันตก 248 คัน ประเทศในอเมริกาใต้ 206 คัน ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากจากทั่วโลก