กรุงเทพ – 1 พฤศจิกายน 2566 – รายงานฉบับใหม่ล่าสุดจากบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอย่างไอดีซี (IDC) ซึ่งได้รับมอบหมายจากแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลกอย่างทูซีทูพี (2C2P) รวมถึงแอนต์ กรุ๊ป (Ant Group) ให้เป็นผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียยังคงเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ แม้เผชิญปัญหาเศรษฐกิจมากมาย โดยมีโครงการริเริ่มข้ามพรมแดนและเครื่องมือที่นำเสนอช่องทางใหม่ ๆ ให้ภาคธุรกิจใช้ปลดล็อกการเติบโตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
รายงานไอดีซี อินโฟบรีฟ (IDC InfoBrief) ซึ่งทางทูซีทูพีมอบหมายให้จัดทำขึ้นมานั้น มุ่งให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับแวดวงการชำระเงินดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2564 โดยรายงานไอดีซี อินโฟบรีฟ ปีนี้มีหัวข้อว่า “How Asia Buys and Pays 2023: Tapping into Asia’s Regional Commerce Opportunities” (ลักษณะการซื้อขายทั่วภูมิภาคเอเชียในปี 2566: คว้าโอกาสยกระดับการค้าในเอเชีย) ซึ่งได้ขยายขอบเขตให้ครอบคลุมภาพรวมการชำระเงินดิจิทัลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น (SEAKJ) รายงานฉบับนี้เจาะลึกศักยภาพที่มีอยู่มากมาย จากการยกระดับการเชื่อมต่อและการค้าในเอเชีย โดยได้แรงหนุนจากการที่รายได้ภาคอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวออฟไลน์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน พร้อมให้คำแนะนำทีละขั้นตอนว่าธุรกิจต่าง ๆ ประสบความสำเร็จในการมีส่วนร่วมในการค้าข้ามพรมแดนได้อย่างไร โดยใช้ประโยชน์จากโครงการริเริ่มข้ามพรมแดนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินดิจิทัลไปจนถึงโลจิสติกส์ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มใหม่ ๆ และสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ
ตัวเลขสำคัญ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำผลงานได้น่าประทับใจ: เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะโตได้ถึง 15.8% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แซงหน้าสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนเกาหลีใต้ (12.7%) และญี่ปุ่น (10.2%) ตามมาติด ๆ ซึ่งปลดล็อกโอกาสทางการค้าที่สำคัญให้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัล: เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นจาก 5.017 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 เป็น 9.149 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2570 ทะยานขึ้นถึง 82% ในเวลาเพียง 5 ปี
การชำระเงินทางดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น: ตลาดอีคอมเมิร์ซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะขยายตัวถึง 100% โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของการชำระเงินดิจิทัล ซึ่งนำโดยบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (38%) กระเป๋าเงินมือถือ (18.9%) การชำระเงินในประเทศ (16.9%) และบัตรเครดิต (14.4%) รายได้ข้ามพรมแดนพุ่งแรง: ความพยายามของภาครัฐและเอกชนน่าจะเข้ามาอัดฉีดรายได้ข้ามพรมแดนในระบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้มากถึง 2.324 แสนล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2565 ถึงปี 2570 โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในภาคอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รายได้จากอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนคาดว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นถึง 70% เป็น 1.481 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2570 แซงหน้ารายได้จากอีคอมเมิร์ซในประเทศ ภาคการท่องเที่ยวใช้จ่ายคึกคัก: การท่องเที่ยวออฟไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น คาดว่าจะโตมากถึง 334% ภายในปี 2570 สร้างรายได้มหาศาลให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาคถึง 1.714 แสนล้านดอลลาร์
คุณออง โจ โม (Aung Kyaw Moe) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของทูซีทูพี กล่าวว่า “ทูซีทูพีมีพันธกิจในการช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ฝ่าฟันและประสบความสำเร็จในภูมิทัศน์การชำระเงินที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในเอเชียได้ เราหวังว่าการค้นพบในรายงานนี้จะกระตุ้นให้ธุรกิจต่าง ๆ ปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียได้ โดยใช้ประโยชน์จากความคิดริเริ่มและเครื่องมือของภาครัฐและเอกชน เราพร้อมใช้โซลูชันการชำระเงินแบบครบวงจรของเรา เพื่อจับมือกับภาคธุรกิจในการคว้าโอกาสอันน่าตื่นเต้นที่มีอยู่มากมายทั้งในและทั่วทั้งภูมิภาค”
คุณดักลาส ฟีกิน (Douglas Feagin) รองประธานอาวุโสของแอนต์ กรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายบริการชำระเงินผ่านมือถือข้ามพรมแดนอย่างอาลีเพย์พลัส (Alipay+) กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะส่งผลบวกอย่างมีนัยสำคัญทั่วเอเชีย ซึ่งจะเข้ามากำหนดอนาคตของธุรกิจและวิถีชีวิต เรามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือร้านค้าทั้งใหญ่และเล็กให้ได้รับประโยชน์จากการชำระเงินดิจิทัลที่ราบรื่น ซึ่งเป็นรากฐานของการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนและความหลากหลายของตัวเลือกการชำระเงินดิจิทัลทำให้เกิดความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านค้าขนาดเล็กถึงขนาดกลาง การทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราเพื่อให้เปิดรับตัวเลือกการชำระเงินได้อย่างง่ายดายผ่านอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายนั้น ทำให้เราได้เห็นผลลัพธ์ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อการบริโภคออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้คนกลับมาเดินทางข้ามพรมแดนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก หรือพ่อค้าแม่ค้าข้างถนน ปัจจุบันธุรกิจจำเป็นต้องตอบสนองพฤติกรรมดิจิทัลเหล่านี้ให้ได้ และผมเชื่อว่าการทำงานร่วมกันจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้น”