(28 ตุลาคม 2565) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายและการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียนเอกชน และมอบนโยบายส่งเสริมการจัดการศึกษาเอกชน โดยมีนายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด (สช.จังหวัด) ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด (ประธาน ปส.กช.) นายกสมาคมทางการศึกษาเอกชน ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน เข้าร่วมรับมอบนโยบาย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยถ่ายทอดสดการประชุมผ่านระบบ Zoom Meeting และ Facebook Page สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
นางสาวตรีนุช เทียนทอง กล่าวว่า โรงเรียนเอกชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาตามแนวทางนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยมีประเด็นสำคัญหลายประการในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ 1) การปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุมนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,974,774 คน โดยจะเป็นการปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2566 – 2569) 2) โครงการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ปกครอง และนักเรียน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน เมื่อปีการศึกษา 2564 ที่ผ่านมา และ 3) การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย ในด้านการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศของนักเรียนเป็นรายบุคคล ติดตามเด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน การปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และโรงเรียนเอกชนประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และการสำรวจข้อมูลค่าใช้จ่ายจริงในการจัดการศึกษาเอกชน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเภทสามัญศึกษา เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการวิเคราะห์ทางเลือกและกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนต่อไป
สำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ ขอฝากทุกท่านร่วมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้แก่
1) การศึกษาเพื่อความปลอดภัย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้ง MOE Safety Center ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ และ สช. ได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยของ สช. เพื่อจัดทำแผนและแนวทางการบริหารจัดการระบบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสถานศึกษาตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด จึงขอให้ ศธจ. สช.จังหวัด และโรงเรียนเอกชนร่วมดำเนินการดังกล่าว รวมไปถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยกำชับส่วนราชการและสถานศึกษาในการดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอาวุธปืนโดยใช้กลไกตามนโยบายความปลอดภัยในสถานศึกษา จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เน้นการดำเนินงานด้านการป้องกัน การปลูกฝัง และปราบปราม
2)การเตรียมความพร้อมสถานศึกษา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศยกเลิกโควิด 19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ในด้านนโยบาย ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนด้านสถานศึกษาต้องจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการเรียนรู้ ขณะเดียวกันนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขอนามัยที่เหมาะสม ตลอดจนเข้มงวดเรื่องการเฝ้าระวังและรายงานผล เพื่อให้รู้สถานการณ์และวางแผนป้องกันแก้ไขได้ทันท่วงที
3)การเตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดูแลให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา หน่วยงาน ครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และมีความพร้อมในการประสานงานช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่สถานศึกษา หน่วยงาน และผู้ประสบภัย ในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ
และ 4)การยกระดับคุณภาพการศึกษา ในการส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษานำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ การจัดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) การพัฒนาทักษะดิจิทัลและภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) และการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม เพื่อเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
“ขอบขอบคุณและให้กำลังใจกับคณะผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชน รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชนที่ดิฉันได้ร่วมผลักดันในวันนี้ จะส่งผลให้โรงเรียนเอกชนมีความเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศต่อไปในอนาคต” รมว.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย