วช. ร่วมกับ สอวช. เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาไทยปี 63 (รอบสำรวจปี 64) พบแตะร้อยละ 1.33% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 7% เผยเอกชนลดงบวิจัยและพัฒนาจากสถานการณ์ covid-19 แต่รัฐใส่เม็ดเงินเพิ่ม มั่นใจงบวิจัยไทย ถึงเป้า 2% ในปี 2570 ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน
วันนี้ (20 พฤษภาคม 2565) ที่ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ชั้น 1 อาคาร วช. 8 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดแถลงข่าว “ผลสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564)” เพื่อสะท้อนสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลสำรวจดังกล่าว ถือเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และเป็นข้อมูลที่จะประกอบการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม การติดตามประเมินผล ตลอดจนใช้วัดศักยภาพการพัฒนาและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ผลการสำรวจค่าใช้จ่ายและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ปี 2563 (รอบสำรวจปี 2564) พบว่าประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนารวมทั้งสิ้น 208,010 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.33 ของ GDP ของประเทศ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คิดเป็นร้อยละ 7.74 โดยสัดส่วนการค่าใช้จ่ายและลงทุนเป็นภาคเอกชน ร้อยละ 68 หรือ 141,706 ล้านบาท ส่วนภาครัฐรวมถึงภาคอุดมศึกษา รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร คิดเป็นร้อยละ 32 หรือ 66,304 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมค่าใช้จ่ายฯ ด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น จากภาครัฐที่ใส่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชน ได้ลดลงจากร้อยละ 77% ในปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ covid-19 โดย 3 อุตสาหกรรมที่ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุด ในปี 2563 คือ อุตสาหกรรมอาหาร 32,545 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการยังลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ รองลงมา คือ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง 11,862 ล้านบาท ซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมการป้องกันภัย การตรวจสอบ และการระงับอัคคีภัย ที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนได้ และมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุก่อสร้างแบบประหยัดพลังงานเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้า 11,675 ล้านบาท ที่มีค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนาสูงขึ้น เนื่องจากมีการลงทุนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการทำงานที่บ้านมากยิ่งขึ้น
สำหรับจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาที่ทำงานเทียบเท่าเต็มเวลา (Full-time equivalent: FTE) รวมทั้งสิ้น 168,419 คน/ปี (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 1) โดยคิดเป็นสัดส่วน 25 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งแบ่งเป็นบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ภาคเอกชน จำนวน 119,264 คน/ปี และภาคอื่น ๆ (รัฐบาล, อุดมศึกษา, รัฐวิสาหกิจ และเอกชนไม่ค้ากำไร) จำนวน 49,155 คน/ปี หรือคิดเป็นสัดส่วนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ของภาคเอกชนต่อภาคอื่น ๆ อยู่ที่ร้อยละ 71:29 โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2570 จะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา (แบบ FTE) ให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 40 คน/ปี ต่อประชากร 10,000 คน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์
ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตัวเลขสำรวจค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ปี 2563 เพิ่มขึ้น แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ covid-19 ซึ่งเป็นเพราะภาครัฐเห็นความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาจึงใส่เม็ดเงินในด้านนี้เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้หากดูแนวโน้มการพัฒนาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากงบลงทุน ฯ ประมาณร้อยละ 0.2 ของจีดีพี ขึ้นมาถึงร้อยละ 1.33 ของจีดีพีในปี 2563 ถือว่าประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสูง
“ ปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียน เลขค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทย ยังเป็นรองแค่ประเทศสิงคโปร์ และในปี2570 หรือ 5 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยได้ตั้งเป้าค่าใช้จ่ายหรืองบลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 2 ซึ่งหากประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนได้”
อย่างไรก็ดีในส่วนของ สอวช. ได้มีการตั้งเป้าหมายใหญ่ของประเทศที่จะขับเคลื่อนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้สำเร็จภายในปี 2570 ด้วยการขับเคลื่อนประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีกลไกหรือแพลตฟอร์มในการยกระดับฐานะทางสังคมของประชาชน มีการส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่ใช้นวัตกรรมเป็นฐานในการทำธุรกิจมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนแรงงานทักษะสูงรองรับภาคอุตสาหกรรม และผลักดันให้ 50% ของบริษัทส่งออก บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารจัดการ ด้านโครงสร้างระบบหน่วยงาน และด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม