เมื่อวันที่ 11 เม.ย. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานงานครบรอบ 16 ปี วันสถาปนาสถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วันดีดี กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์” One fine day with nuclear technology (Better solutions for the bright future) และพระราชทานรางวัลให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีนิวเคลียร์จำนวน 8 รางวัล ประกอบด้วย ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลศิริราช ผลักดันให้เกิดการวิจัยนำไปสู่การให้บริการสารไอโซโทปรังสีเภสัชภัณฑ์รังสี เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆที่มีประสิทธิภาพ 2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การวิจัยด้านเทคโนโลยีพลาสมาและฟิวชัน นำไปสู่การพัฒนาด้านพลังงานทดแทน 3.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล 4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ในโรงเรียน 5.องค์การบริหารส่วนตำบลตรอกนอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี พื้นที่ต้นแบบการจัดการแมลงวันผลไม้ 6.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด สนับสนุนงานวิจัย พัฒนาการใช้ประโยชน์จากเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ 7.บริษัทไทยอินโนฟู้ด จำกัด ร่วมวิจัยและพัฒนาตลอดจนสร้างการรับรู้ด้านเทคโนโลยีการฉายรังสีอาหาร และ8. บริษัท สยาม บลูโทแพซ แอนด์ มาสเทอพีส เจมส์ จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีฉายรังสีรายแรกของไทย
และรางวัลผู้มีคุโณปการต่อกิจการของสถาบัน จำนวน ๓ ราย ได้แก่ 1. รองศาสตราจารย์ ธัชชัย สุมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิวเคลียร์ 2. รองศาสตราจารย์อัญชลี กฤษณจินดา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ 3. ผู้ช่วยศาสตรจารย์สุวิทย์ ปุณณะชัยยะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศกรรมนิวเคลียร์
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผอ.สทน.กล่าวในการแถลงข่าวว่า สทน.ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศ และเทรนด์โลกผ่านแผนยุทธศาตร์ สทน.4ปี (พ.ศ.2564-2567) ทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการยกระดับสังคมเชิงบูรณาการผ่านกิจกรรมสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี เพื่อสร้างนวัตกรรมการฉายรังสีสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านไทย ยกระดับสินค้าเพื่อให้สะอาด ปลอดภัย และมีมาตรฐาน สามารถเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือทางนิวเคลียร์โดยเครื่องไซโคลตรอน เพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์ทางรังสี ลดการนำเข้าเภสัชรังสี ได้ปีละราว 800 ล้านบาท การเป็นผู้นำทางวิชาการและในระดับนานาชาติผ่านโครงการ TINT2U สนับสนุนทุนวิจัยให้นักวิจัยจากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งในวันนี้สทน.ได้ร่วมลงนามความร่วมมือเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีนิเคลียร์ฟิวชันกับหน่วยงานเครือข่าย CPaF กับมหาวิทยาลัยต่างๆ 24 มหาวิทยลัย