13 ธันวาคม 2564 กรุงเทพฯ: ทีเส็บแถลงความสำเร็จของโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้ เสริมความแข็งแกร่งให้กับจุดเด่นของภูมิภาคผ่านสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง พร้อมเตรียมภาคใต้ในฐานะจุดหมายปลายทางระดับสากลและ hub ธุรกิจไมซ์อีกครั้งหลังเปิดประเทศ
นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม กล่าวถึงโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้ว่า “ความสำเร็จจากนโยบายของทีเส็บด้านการส่งเสริมการตลาดไมซ์ภายในประเทศอย่างเมืองไมซ์ (MICE City) ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองไมซ์ถึง 10 เมืองด้วยกัน ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ตขอนแก่น อุดรธานี สงขลา นครราชสีมาพิษณุโลก และสุราษฎร์ธานี ทุกเมืองล้วนแต่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีศักยภาพพร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ รวมไปถึงมีบุคลากรในอุตสาหกรรมที่พร้อมสร้างประสบการณ์เฉพาะให้แก่นักเดินทางที่ไปเยือน”
อีกทั้งทีเส็บได้เพิ่มกำลังการสนับสนุนเหล่าเมืองไมซ์ผ่าน สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภูมิภาค หรือ ‘มินิ ทีเส็บ’ ที่มุ่งเน้นกระจายกิจกรรมไปตามภูมิภาค ใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาเมืองและนำไปสู่การกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนและพื้นที่จากทุกรูปแบบ
นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคใต้เปิดเผยว่า “ภายใต้แผนธุรกิจไมซ์ระยะกลาง ปี 2564 – 2566 ที่ร่วมวางกับบรรดาผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้เสียในภูมิภาคนั้น มีกลยุทธ์หลัก 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ประมูลงานต่าง ๆ เข้ามาจัดในพื้นที่, โปรโมตเส้นทางที่น่าสนใจ, พัฒนาบุคลากรและหน่วยงานในวงการ, นำนวัตกรรมมาใช้, ยกระดับภาคใต้ให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ระดับนานาชาติเพื่อดึงดูดนักเดินทางและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างเช่น
การทำไมซ์เลนในสนามบินนานาชาติภูเก็ต ประกอบกับเทรนด์การใช้บริการเรือสำราญกำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่ง เพราะสามารถปรับใช้กับกลุ่มอีเวนต์ธุรกิจด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ทั้งหมดจึงได้สะท้อนอยู่ในโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของภูมิภาคให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนอยากมา ผ่านจุดเด่นอย่างการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ด้วยเรือสำราญ และประสบการณ์การได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อ
นายพัฒนชัย กล่าวเสริมว่า “สำหรับกลยุทธ์ด้านการประมูลงานต่าง ๆ เข้ามาจัดในพื้นที่ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับนโยบายด้านการตลาดไมซ์ต่างประเทศด้วยนั้น มีงานที่น่าสนใจหลายงานที่พร้อมจะเข้ามาจัดในภาคใต้ของเรา อย่างเช่นที่ภูเก็ตในปีหน้าจะมี 2 งาน ได้แก่ งานแสดงสินค้าท่องเที่ยวระดับซูเปอร์พรีเมียมอย่าง ASIA LUXURY TRAVEL MART 2022 วันที่ 4 – 8 พฤษภาคม 2564 ในงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายกลุ่มธุรกิจโรงแรมหรูหรา เครื่องบินส่วนตัว และเรือยอร์ช กับอีกส่วนคือ เป็นประชุมสัมมนาของกลุ่มนักขับขี่จักรยานยนต์หรู (Group Bike) กับอีกงาน คือ TBEX หรือ TRAVEL BLOG EXCHANGE 2021 งานประชุมบล็อกเกอร์ด้านท่องเที่ยวระดับนานาชาติพร้อมกับผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งวางแผนไว้แล้วว่าจะเกิดขึ้นในช่วงพฤศจิกายนของปีหน้า ทางด้านทีเส็บเองก็พร้อมเปิดรีวิว 3 เส้นทางในงานนี้ด้วยอย่าง เส้นทางสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน (Andaman Hidden Gems), เส้นทางชุมชนในพื้นที่นครศรีธรรมราช สงขลาและพัทลุงและเส้นทางล้อเส้นขอบฟ้าในสงขลาและสตูล ก็นับว่าเป็นงานที่ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกันทุกฝ่าย”
นายเบิด จำเริญนุสิต ประธานคณะกรรมการฝ่ายการตลาด สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA) กล่าวว่า “สำหรับการจัดทำโครงการนี้ ในมุมของภาคธุรกิจถือว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะลูกค้าในกลุ่มตลาดไมซ์โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศมีความต้องการการเดินทาง ที่สามารถสร้างประสบการณ์ในรูปแบบการสัมผัสวิถีของคนในท้องถิ่นจริง ๆ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ อาจจะยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่เพียงพอว่ามีสถานที่ไหนบ้างที่พร้อมจะรองรับ เรารู้ว่ามีวิถีชุมชนที่น่าสนใจแต่เราไม่มีจุดเชื่อมตรงกลางให้เข้าไปถึงชุมชม โครงการนี้จึงสามารถตอบ pain point ของเราได้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยเชื่อมโยงภาคธุรกิจไปสู่ชุมชนที่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ และในอนาคตภาคธุรกิจยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปต่อยอดการพัฒนาให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีความเข้าใจในความต้องการเฉพาะของตลาดไมซ์มากขึ้น และยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถของความพร้อมในพื้นที่ภาคใต้ ในการดึงงานไมซ์เข้าสู่พื้นที่ให้มากขึ้นในอนาคต”
นายศิริศักดิ์ จิระชาญชัยศิริ หัวหน้าแผนกอินบาวนด์ บริษัท รีเกล อินเตอร์เนชั่นแนล แทรเวลจำกัด กล่าวถึงภาพรวมของตลาดเรือสำราญที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้ในปีหน้าว่า“อุตสาหกรรมเรือสำราญทั่วโลกต่างเริ่มกลับมาดำเนินกิจการกันแล้วแม้จะยังไม่ได้จัดอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะแถบเอเชียและออสเตรเลียที่หลายแห่งอาจจะยังต้องรอนโยบายเปิดประเทศหรืออาจจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจเรือสำราญภายในประเทศก่อน จึงค่อย ๆ ขยับขยายต่อไป ภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า คิดว่าช้าสุดที่ธุรกิจเรือสำราญในไทยจะขยับตัวได้อย่างเต็มที่น่าจะไม่เกินไตรมาสสุดท้ายของปี หรือถ้าสถานการณ์ทุกอย่างในไทยดีขึ้นเร็วกว่านั้น เรือสำราญบางบริษัทอาจปรับแผนเดินทางเข้ามาเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน”
นางศุภวรรณ กล่าวปิดท้ายว่า “ความสำเร็จของโครงการพัฒนาสินค้าและบริการของเรือสำราญและอาหารพื้นถิ่นผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ภาคใต้จึงไม่ใช่แค่การชูความโดดเด่นของภูมิภาค แต่โครงการนี้ยังรวมไปถึงการผลักดันด้าน Global Ranking เพื่อเสริมความแกร่งในระดับชาติ ที่พร้อมช่วงชิงโอกาสในระดับสากลและยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ให้โลกได้รับรู้อีกครั้งว่า ประเทศไทยนั้นพร้อมเสมอมาในฐานะจุดหมายปลายทางรองรับธุรกิจไมซ์”