บี.กริม เพาเวอร์ ผนึก ม.ธรรมศาสตร์ ลงนาม MOU ต่อยอดและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน เดินหน้าเพิ่มทักษะองค์ความรู้บุคลากร มุ่งสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้กับประเทศ

บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการร่วมมือกันศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อต่อยอดและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทน รวมถึงร่วมส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้กับประเทศในอนาคต

นายดอน ยาทาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ – สายงานลูกค้าสัมพันธ์และปฏิบัติการโรงไฟฟ้า 2 บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บี.กริม เพาเวอร์ เล็งเห็นถึงโอกาสในการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีการพัฒนาและศึกษาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าจากความร่วมมือในครั้งนี้ จะสามารถพัฒนาองค์ความรู้และนำความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายสู่การพัฒนางานวิจัยด้านโรงไฟฟ้าและพลังงานทดแทนร่วมกัน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของ บี.กริม เพาเวอร์ ที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น พร้อมสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดเพื่อการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเพชร จิรขจรกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี โดยความร่วมมือครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะพิจารณาให้นักศึกษา ทีมนักวิจัยและคณาจารย์ ร่วมวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเสริมศักยภาพโครงการพลังงานทดแทนเพื่อเป็นการต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมพลังงานสะอาด อาทิ กำหนดให้เป็นหนึ่งในหัวข้อโครงการของนักศึกษาปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา รวมถึงหัวข้องานวิจัยของนักวิจัย ทีมนักวิจัยและคณาจารย์ โดยจะได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก บี.กริม เพาเวอร์
สำหรับโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านวิทยาศาสตร์ของทั้งสององค์กรในครั้งนี้จะมีระยะเวลา 2 ปี โดยจะเริ่มต้นจากโครงการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าเซล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน โดยใช้ระบบติดตามดวงอาทิตย์ (Solar Tracking) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศในการใช้พลังงานสะอาด ทั้งยังตอบโจทย์เป้าหมายของทั้งสองหน่วยงาน ในส่วนของ บี.กริม เพาเวอร์ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีวิสัยทัศน์มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) สู่การพัฒนาด้านพลังงานที่ยั่งยืนและปลอดภัยภายใต้กลยุทธ์หลัก Green Leap – Global and Green โดยตั้งเป้าเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593 เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้มุ่งสู่สังคม Net Zero ผ่านการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในมิติของสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *