นายทวีวิทย์ ศรีรัตนวิทย์ ทนายความของคดี นายประหยัด พวงจำปา ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบกรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช). กับพวกรวม 2 ราย ต่อ ศาลปกครอง ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้ง นายนิวัติไชย เกษมมงคล เป็นเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ บ.126/2565 คดีหมายเลขแดงที่ บ.188/2565 ระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ฟ้องคดี กับ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นายประหยัด พวงจำปา
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 เลือกนายนิวัติไชย เกษมมงคล เพื่อเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ความเห็นชอบเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบเลือกนายนิวัติไชยฯ เพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามข้อ 13 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง คุณสมบัติและวิธีการได้มาซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2564 และข้อ 26 ของระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 อันเป็นเพียงการเตรียมการและดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เพราะการคัดเลือกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ข้างต้น ต้องนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายนิวัติไชยฯ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา 148 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และข้อ 26 ของระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดังกล่าว ประกอบข้อ 13 วรรคสองของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติข้างต้น
ดังนั้น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้นายนิวัติไชย เกษมมงคล ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงถือเป็นคำสั่งอันมีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีซึ่งเข้ารับการสรรหาด้วย ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนิยามคำสั่งทางปกครอง ใน (1) ของมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงชอบที่จะฟ้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว
เมื่อข้อพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นการพิจารณาทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธินำข้อพิพาทดังกล่าวมายื่นฟ้องต่อศาล ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
นายทวีวิทย์ ระบุว่า สำหรับคดีนี้ นายประหยัด ฟ้องว่า ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กับพวกรวม 2 คน กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีประธานกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคำสั่งให้เลือก นายนิวัติไชย เกษมมงคล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยในขณะนั้นนายประหยัด พวงจำปา ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ตามประกาศรับสมัครเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเรียงตามลำดับคือ 1.นายประหยัด พวงจำปา ผู้ฟ้องคดี 2.นายนิวัติไชย เกษมมงคล และ 3.นายอุทิศ บัวศรี
โดยการสรรหาเลขาธิการ ปปช. ครั้งนั้น นายทินกร กาญจนจิตรา ประธานคณะกรรมการสรรหา ได้เห็นชอบเสนอชื่อทั้ง 3 รายซึ่งเป็นผู้เหมาะสม ต่อพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. วันที่ 23 สิงหาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครั้งที่ 122/2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้ นายนิวัติไชย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ดังนั้นนายประหยัดในฐานะผู้สมัครแข่งขันอาวุโสสูงสุดมีความเคลือบแคลงว่าการคัดเลือกครั้งนี้มีความไม่โปร่งใส เนื่องจากเพิ่งเสนอชื่อผู้มีคุณสมบัติทั้ง 3 คน เข้าวาระการพิจารณาเพียงวันเดียว พออีกวันก็ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเลย นายประหยัดจึงทำหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2564 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 12 ม.ค. 2565 ให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องดังกล่าว เนื่องจากนายประหยัดเห็นว่าการกระทำของ ประธานกรรมการป.ป.ช.และ กับพวกรวม 2 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อีกทั้งก่อนหน้านั้น นายประหยัดมีปัญหาฟ้องร้องกับบุคคลสองคนคือ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. (พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ) และ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตภาค 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
ซึ่งเมื่อประธาน ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. เป็นคู่กรณีกับนายประหยัด ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการ ปปช. จึงเป็นเหตุอาจทำให้การพิจารณาทางปกครอง คัดเลือกผู้ได้รับการสรรหา ซึ่งมีผู้ฟ้องคดี (นายประหยัด พวงจำปา) รวมอยู่ด้วย เป็นไปโดยอคติ ไม่มีความเป็นกลาง นายประหยัด จึงฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อที่จะทวงความเป็นธรรมกลับคืน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่นายประหยัดดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อคู่กรณีอยู่นั้น นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ ได้มีการพิจารณาคดีร่ำรวยผิดปกติ และด่วนสรุปโดยมีมติที่อาจจะผิดกฏหมาย
โดยการสรุปสำนวนนำเสนอ ประธาน ปปช. (พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ) เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาโดยองค์คณะ มี 8 คน รวมประธาน ปปช. ด้วย ปรากฏว่าการพิจารณาในครั้งนั้น คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติ 4:4 โดย 4 คนเห็นว่าไม่ชี้มูล เพราะทรัพย์สินดังกล่าว ไม่ใช่ของนายประหยัด พวงจำปา และไม่ได้มาจากการปฎิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด ไม่มีเรื่องร้องเรียน หรือถูกกล่าวหาเรื่องใดๆเลย ทรัพย์สินเป็นธุรกิจในครอบครัวคู่สมรส
ขณะอีก 4 เสียงที่เห็นว่าควรชี้มูลกลับมีชื่อพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ (ประธานกรรมการป.ป.ช.) รวมอยู่ด้วย ทั้งที่ข้อกฎหมายพ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 23 กรณีการชี้มูลคดีร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการป.ป.ช. ต้องมีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการที่มีอยู่ (โดยไม่ควรรวมประธานการประชุม ซึ่งก็คือประธาน ป.ป.ช.) เหตุการณ์ดังกล่าวหากไม่รวมเสียงประธาน ป.ป.ช. จะเท่ากับว่ามีผู้ไม่ชี้มูล 4 เสียง ส่วนผู้ชี้มูลมีเพียง 3 เสียง ข้อกล่าวหานี้จะถือว่าตกไป แต่เมื่อรวมเสียงประธาน ป.ป.ช. ก็ยังมีคะแนนเสียงเท่ากัน แต่ผลสรุปกลับถือว่าชี้มูลเพื่อนำไปสู่มาตรา 122 วรรคท้าย ให้แจ้งคำวินิจฉัย ให้อำนาจผู้บังคับบัญชา แต่งตั้ง ถอดถอน ภายใน 30 วัน เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายใน 60 วัน โดยไม่ตั้งกรรมการสอบวินัย แต่ได้มีคำสั่งประธานกรรมการป.ป.ช. ที่ 6/2565 ไล่ออกนายประหยัด พวงจำปา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565
ด้านนายประหยัดมองว่า เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้นายประหยัด พวงจำปา กลับเข้ามารับราชการ และคดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง เพราะนายประหยัด พวงจำปา มีระยะเวลารับราชการอีกเพียง 6 เดือน โดยจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2566 ที่จะถึงนี้