วช.ขยายผลวิจัยสู่ชุมชน สนับสนุนใช้เครื่องเฝ้าระวังไฟป่า ผลดีเกินคาด ต่างชาตินำต้นแบบไปประยุกต์ใช้

ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ในฤดูแล้งของทุกปี ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่เกือบทุกภาคของประเทศไทยมักประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตมลพิษหมอกควัน หรือค่าพีเอ็ม 2.5 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพอนามัยของประชาชน และในปัจจุบันสถานการณ์หมอกควัน เริ่มมีปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานในหลายจังหวัด แม้จะมีเจ้าหน้าที่ กลุ่มอาสาสมัครช่วยคอยเฝ้าระวังไฟ เมื่อเทีียบกับจำนวนพื้นป่าที่ต้องเฝ้าระวัง ก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ  อีกทั้งวิธีการส่วนใหญ่ยังคงใช้แรงงานคน วช.จึงไดสนับสนุนทุนวิจัยโครงการการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า อาสาสมัคร และชุมชนให้มีความรู้ ความสามารถในการเฝ้าระวังไฟป่าโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

รศ.ดร.ปานใจ ธารทัศนวงศ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับคณะผู้วิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ IntERLab สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เปิดเผยว่า จากแนวคิดเรื่องของการวัดคุณภาพอากาศในปัจจุบันที่เน้นการวัดค่าฝุ่นละอองชนิดต่างๆ  ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการวัดค่าจากพื้นที่ในเมืองเป็นหลัก แต่ต้นเหตุของการเกิดฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่แล้วเกิดจากไฟป่า คณะนักวิจัยจึงเกิดความคิดที่จะนำอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศไปติดตั้งไว้ในป่าเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเตือนว่า ถ้ามีการเผาไหม้อะไรบางอย่างแล้วมันมีโอกาสจะเกิดเป็นไฟป่าได้  จึงได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยใช้เซ็นเซอร์วัดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเรียกว่า “โหนดเซ็นเตอร์” โดยใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยใช้องค์ความรู้จาก โครงการ STIC-ASIA SEA HAZEMON พัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง โครงการ CANARIN กับ intERLab สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย LIP6 (Sorbonne Universite, France) และ University of Bologna (Italy) ภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสซึ่งได้สร้างสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เรียกว่าแพลตฟอร์ม CANARIN โดยติดตั้งโหนดเซ็นเซอร์หลายพื้นที่ในประเทศไทย เช่น เชียงราย ตาก  และในเอเชียอีกหลายประเทศ เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย มาเลเซียฯ เป็นระบบฐานข้อมูลที่รวบรวมคุณภาพอากาศครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในเอเซีย พร้อมกันนี้ โครงการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเฝ้าระวังไฟป่าอัจฉริยะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ปีงบประมาณ 2564ได้พัฒนาระบบข้อมูล Big Data ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองการเกิดไฟป่า ความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า สร้างเป็นเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากพลังแสงอาทิตย์ โดยเชื่อมข้อมูลเข้ากับฐานข้อมูลของแพลตฟอร์ม CANARIN (วัดฝุ่น.ไทย) 

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาแบบจำลองการเกิดไฟป่าโดยพิจารณาจากสองปัจจัยคือ ปริมาณของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และปริมาณของคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ประกอบกับตัวโหนดเซ็นเซอร์นี้ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตประสานสรรพสิิ่ง (Internet of Things : IoT) และระบบ GPS ดังนั้น เมื่อเซ็นเซอร์อ่านค่าได้ว่าเกินเกณฑ์จากแบบจำลองการเกิดไฟป่า  ก็หมายความว่ามีโอกาสที่จะเกิดเป็นไฟป่า จากนั้นจะส่งการแจ้งเตือนในกลุ่มไลน์บัญชีทางการ “ระวังไฟป่าบ้านโฮ่ง” ให้แก่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่วมกับฐานข้อมูลคุณภาพอากาศจากแพลตฟอร์ม CANARIN ที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดคุณภาพอากาศของโครงการฯ  สำหรับพื้นที่ที่โครงการลงไปถ่ายทอดและให้ความรู้แก่ชุมชนและนำอุปกรณ์ไปติดตั้งคือ บริเวณดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูนเป็นบริเวณที่เกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี ดอยช้างป่าแป๋เป็นจุดสังเกตการณ์ไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เขตแนวกันไฟรอบๆ ชุมชน โครงการฯ ได้นำโหนดเซ็นเซอร์ลงไปติดตั้ง 5 จุด แต่ละจุดมีประสิทธิภาพตรวจวัดสภาพอากาศได้ในรัศมี 10 กิโลเมตร  เซ็นเซอร์ทั้ง 5 ตัว จึงสามารถตรวจจับสภาพอากาศได้ครอบคลุมทั้งดอยช้างป่าแป๋ ได้โดยดำเนินการติดตั้งและทดลองการทำงานของเครื่องแล้วเสร็จไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564

​หลังจากติดตั้งเครื่องโหนดเซ็นเซอร์แล้ว ระบบได้ส่งข้อความแจ้งเตือนไปที่กลุ่ม “ระวังไฟป่าบ้านโฮ่ง” เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูของการเกิดไฟป่า เครื่องโหนดเซ็นเตอร์ได้ส่งคำแจ้งเตือนเข้าไปในไลน์กลุ่มเพราะค่าที่วัดได้สูงผิดปกติ  ชาวบ้านจึงเข้าไปตรวจสอบจากฐานข้อมูลของวัดฝุ่น.ไทย ปรากฏว่าขึ้นจุดเตือนบริเวณตำแหน่งดังกล่าวและมีโอกาสเกิดไฟป่า  ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จึงเดินทางเข้าไปในพื้นที่ปรากฏว่าเป็นไฟป่าจึงช่วยกันดับไฟได้ จึงถือว่าเป็นความสำเร็จของโครงการที่ช่วยแจ้งเตือนและลดความเสียหายจากไฟป่าก่อนที่จะขยายวงกว้างออกไป  เทคโนโลยีจากงานวิจัยนี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและชุมชนในการเฝ้าระวังไฟป่าได้ค่อนข้างมาก เป็นเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่  คนในชุมชนจึงกระตือรือร้นและมีส่วนร่วมในโครงการค่อนข้างมาก  สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ยกเว้นกรณีที่เครื่องเกิดความเสียหายโครงการฯ จะเข้าไปช่วยไปดูแล  

การติดตั้งจุดแจ้งเตือนไฟป่าจึงได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาก  ในโครงการวิจัยที่จะพัฒนาต่อเนื่องที่ได้รับทุนวิจัยจาก วช. ปีงบประมาณ 2565 จะนำอุปกรณ์นี้ไปติดตั้งเพิ่มที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน เพื่อช่วยแจ้งเตือนเรื่องการเกิดไฟป่า โดยมีอุปกรณ์ที่จะเพิ่มเติมไปติดกับชุดโหนดเซ็นเซอร์คือกล้องวิดีโอที่ทำงานร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์  (AI) เพื่อใช้สังเกตกลุ่มควันที่เกิดขึ้น เมื่อเครื่องโหนดเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศว่าเกินเกณฑ์ที่กำหนดจากแบบจำลอง ประกอบกับการตรวจพบกลุ่มควัน  นั่นหมายความว่ามีโอกาสเกิดเป็นไฟป่าและยังสามารถที่จะระบุตำแหน่งการเกิดไฟป่าได้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ คาดว่าจะติดตั้งได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ โครงการนี้จึงเป็นต้นแบบของความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ประเทศในเครือข่ายแพลตฟอร์ม CANARIN ให้ความสนใจและนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนบ้างแล้ว 

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.