มศว. – ราชภัฏบุรีรัมย์ ปลื้มปิติ คว้ารางวัล Platinum Award รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565”

วันที่ 5 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัล Thailand Research Expo 2022 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานเข้าร่วมนำเสนอในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ซึ่งในพิธีปิดงานมหกรรมดังกล่าว มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล และได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถ้วยรางวัลจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ้วยรางวัลจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถ้วยรางวัลจากศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และถ้วยรางวัลจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง
ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

พิธีมอบรางวัลในครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีปิดงานฯ พร้อมมอบรางวัล Thailand Research Expo 2022 Award และมอบโล่แสดงความขอบคุณแก่หน่วยงานที่นำผลงานมาเข้าร่วมนำเสนอในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” ณ เวที Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร

ในปีนี้ วช. ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานที่มีกระบวนการนำเสนอที่มีความโดดเด่นในรูปแบบที่หลากหลายและสามารถเชื่อมโยงส่งต่องานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไปได้ โดยแบ่งผลงานออกเป็น 4 ประเภท และมีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ดังนี้

1. Platinum Award ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 120,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ผลงาน “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกสายพันธุ์ ไทยเพื่อสุขภาพและเป็นอาหารฟังก์ชัน” และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผลงาน “การจัดการทุนทางวัฒนธรรมขับเคลื่อน เศรษฐกิจฐานรากพื้นที่เส้นทางการค้าโบราณ จังหวัดบุรีรัมย์ ”

2. Gold Award ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 70,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ผลงาน “ระบบ Vajira Telemedicine โดย application Vajira@Home” , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผลงาน “การสร้างมูลค่าเพิ่มบัวฉลองขวัญ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย”, สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ผลงาน “ห้องแยกโรคความดันลบ” และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลงาน “เทคโนโลยีวัสดุแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ และการกักเก็บพลังงาน”

3. Silver Award ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 50,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ผลงาน “มหัศจรรย์ “ป่าประ” เขาหลวง นครศรีธรรมราช”, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงาน “ระบบเซลล์เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แบบเคลื่อนที่จากแอลกอฮอล์”, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผลงาน “เครื่องป้อนสายพร้อมสารหล่อลื่นอัตโนมัติ (Cable Pusher with Auto Lubricant)”, มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงาน “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนฐาน ทุนทางวัฒนธรรมชุมชน”, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลงาน “การพัฒนารูปแบบโรงเรียน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (School as Learning Community : SLC) ในการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะพลเมืองรุ่นใหม่” และโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ผลงาน “การวิเคราะห์ ผลกระทบของ COVID-19 ต่อระบบสาธารณสุขเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการปรับตัวของระบบบริการต่อการระบาด และความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย”

4.Bronze Award จำนวน 8 รางวัล ผู้รับรางวัลได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ผลงาน “Martech platformCoffee & amp; Tourism”, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผลงาน “สารดับเพลิงประเภทผงเคมีแห้งสูตรเร่งประสิทธิภาพ จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” และ “นวัตกรรมการผลิตสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่จากเซลล์ว่านเพชรหึง (ไฟโตไทเกอร์เซลล์)”, มหาวิทยาลัยรังสิต ผลงาน “ไข่ผงจากพืชไร้สารก่อภูมิแพ้”, และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผลงาน “การพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกร และผู้ประกอบการกาแฟอาราบิก้าในชุมชนจังหวัดเชียงรายตลอดห่วงโซ่อุปทาน” และรับถ้วยรางวัลจากผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมเงินรางวัล รางวัลละ 30,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 4 รางวัล ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผลงาน “โครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี มาสนับสนุนการให้บริการพลังงาน (ERC Sandbox) หรือ Energy Regulatory Commission Sandbox” สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ผลงาน “โครงการเพิ่มการใช้มาตรการ พิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาในเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ระยะที่ 3” มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ผลงาน “ภูมิปัญญา ภูมิสารสนเทศและการบริหาร จัดการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า” กรมปศุสัตว์ ผลงาน “การรักษาโรคลัมปีสกินด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระบบ แลคโตเพอร์ออกซิเดส”

และ 5. รางวัลชมเชย เงินรางวัล รางวัลละ 10,000 บาท และเกียรติบัตร จำนวน 15 รางวัล ได้แก่ สถาบันพระบรมราชชนก ผลงาน “การแปรรูปแป้งจากส่วนเหลือทิ้งทางการเกษตร ของกล้วยหิน ปริมาณแป้งที่ทนต่อการย่อยด้วยเอนไซม์ และคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ”, มหาวิทยาลัยพะเยา ผลงาน “การผลิตโคเนื้อคุณภาพเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จังหวัดพะเยา”, กรมสุขภาพจิต ผลงาน “การเสริมสร้างวัคซีนใจในชุมชนในสถานการณ์การแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”, มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ผลงาน “ศูนย์เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Engineering Expertise Center)”, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผลงาน “การพัฒนาเครื่องจักรแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน”, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ผลงาน “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนาเพื่อเชื่อมโยงผลงานการพัฒนาท้องถิ่นและสังคม”, มหาวิทยาลัยทักษิณ ผลงาน “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง”, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผลงาน “โครงการศึกษาพัฒนารูปแบบยาเตรียมตำรับยาแผนไทย จำนวน 16 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม”, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลงาน “โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี่ทางชีวภาพ เพื่อการต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรม BCG”, มหาวิทยาลัยบูรพา ผลงาน “KIN-YOO-DEE Platform for Holistic Continuity Healthcare and Medical Al Services”, กรมทางหลวง ผลงาน “การศึกษาเทคโนโลยีตรวจวัด ติดตาม เตือนภัย และบริหารจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติดินสไลด์ในโครงข่ายทางหลวง”, กรมป่าไม้ ผลงาน “โมเดลการฟื้นฟูป่า มิติสู่ความยั่งยืน”, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลงาน “สารชีวภัณฑ์ วว. ยกระดับผลิตผลการเกษตร พัฒนาเชิงพื้นที่ด้วย วทน.”, มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผลงาน “การพัฒนาเกมบนโมบายแอปพลิเคชันสำหรับการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาและการสื่อสารในเด็กออทิสติก” และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ผลงาน “นวัตกรรมการจัดการความรู้ภูมิปัญญาไหมถิ่นไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก”

ทั้งนี้ การจัดงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ที่หน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทุกหน่วยงาน และเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยหน่วยงานวิจัย (RUN) รวมถึงหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (PMU) และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันเผยแพร่องค์ความรู้และส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อขยายผลสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยในมิติต่าง ๆ วช. เชื่อมั่นว่าพลังแห่งการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้วยกลไกการเผยแพร่และขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากการวิจัย โดยการนำเสนอผลงานวิจัยระดับประเทศ มีส่วนผลักดันให้เกิดการขยายผลองค์ความรู้ต่อยอดงานวิจัย เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต่อไปในอนาคต

You May Also Like

Leave a Reply

Your email address will not be published.